SLider section

อาหาร 4 ภาค

อาหารภาคเหนือ

แกงแคปลา

ความเป็นมา แกงแค เป็นแกงที่มีผักหลายชนิด คล้ายต้มจับฉ่ายของชาวจีน ผักที่เป็นส่วนผสมหลัก ส่วนใหญ่ประกอบด้วย ตำลึง ชะอม ใบชะพลู ผักชีฝรั่ง มะเขือพวง และดอกแค   คุณค่าทางโภชนาการ แกงแคจะมีเกลือแร่และวิตามินจากผักต่างๆที่ใส่ลงไป เช่นแคลเซียมที่ได้จากใบชะพลูช่วยบำรุงกระดูกและฟัน และช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน  ผักกวางตุ้งช่วยในการขับถ่าย ถ่ายสะดวก ป้องกันโรคท้องผูก ชะอมช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากมีวิตามินเอสูง ยอดชะอมช่วยลดความร้อนในร่างกายได้   ส่วนผสม ปลาช่อนหั่นท่อน                  400    กรัม ถั่วฝักยาว                          200    กรัม ชะอม                               80      กรัม ผักชีฝรั่งหั่นหยาบ                 20      กรัม ใบชะพลู                            10      กรัม มะเขือเปราะ                      50      กรัม ผักกวางตุ้ง                         100    กรัม ยอดตำลึง                          80      กรัม น้ำปลา                             2        ช้อนโต๊ะ น้ำเปล่า                            3        ถ้วยตวง น้ำมันพืช สำหรับผัด ส่วนผสมน้ำแกง พริกแห้ง                            10      เม็ด เกลือป่น                            1        ช้อนชา ข่าซอย                              1        ช้อนชา ตะไคร้ซอย                         2        ช้อนโต๊ะ กระเทียม                           1        ช้อนโต๊ะ หอมแดง                            2        ช้อนโต๊ะ กะปิ                                   2        ช้อนชา ปลาร้าสับ                          1        ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ปั่นหรือตำส่วนผสมพริกแกงให้ละเอียด นำลงไปผัดกับน้ำมันจนมีกลิ่นหอม ใส่น้ำตั้งไฟต่อจนเดือด ใส่ปลาช่อนลงไปต้มในน้ำแกงจนสุกดี จากนั้นปรุงรส ใส่ผักต่างๆ ต้มจนผักสุกนุ่ม ตตักขึ้นเสิร์ฟร้อนๆ


เพิ่มเติม

อาหารภาคเหนือ

แกงขนุน

ความเป็นมา แกงขนุน หรือ แกงบ่าหนุน แต่ก่อนนิยมทำในงานบุญ เพราะชื่อที่เป็นมงคล หมายความไปถึงการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน   คุณค่าทางโภชนาการ ขนุนอ่อน เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากโปรตีน ไขมัน และกากใยอาหาร อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังให้สารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูงอีกด้วย   ส่วนผสม ซี่โครงหมูอ่อนหั่นท่อน                     300    กรัม ขนุนอ่อนหั่นชิ้น                                500    กรัม มะเขือส้มบุบพอแตก                        200    กรัม ชะอมเด็ด                                           50      กรัม น้ำปลา                                                3       ช้อนโต๊ะ น้ำสะอาด                                           5      ถ้วยตวง ส่วนผสมพริกแกง พริกแห้งเม็ดใหญ่                           8        เม็ด เกลือป่น                                          1        ช้อนชา ข่าหั่นละเอียด                                1        ช้อนโต๊ะ กระเทียมซอย                                3        ช้อนโต๊ะ หอมแดงซอย                                 4        ช้อนโต๊ะ ปลาร้าสับ                                       1        ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ตำหรือปั่นส่วนผสมพริกแกงให้ละเอียด พักไว้ เติมน้ำสะอาดในหม้อขึ้นตั้งไฟกลาง  ใส่ซี่โครงหมูอ่อนลงไปต้มจนสุก ใส่พริกแกงลงไปละลายให้เข้ากัน ต้มต่อจนน้ำเดือดอีกครั้ง ใส่ขนุน มะเขือส้ม ปรุงรสด้วยน้ำปลา ชิมรส ก่อนเสิร์ฟให้เร่งไฟแรง ใส่ชะอม ต้มพอให้ชะอมสลด ตักขึ้นเสิร์ฟร้อนๆ


เพิ่มเติม

อาหารภาคเหนือ

แกงกล้วยดิบ

ความเป็นมา แกงกล้วยดิบ เป็นแกงชนิดหนึ่ง ใช้กล้วยน้ำว้าดิบเป็นส่วนผสมเพราะหาได้ทั่วไปกล้วยจึงเป็นที่นิยมที่จะนำมาประกอบอาหารหลากหลายประเภท   คุณค่าทางโภชนาการ กล้วยน้ำว้าช่วยแก้โรคกระเพาะได้ดีเนื่องจากมีสารแทนนิน ซึ่งมีฤทธิ์ในการเคลือบรักษากระเพาะและลำไส้ป้องกันการติดเชื้อ และยังมีฤทธิ์ในการช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารได้เป็นอย่างดี   ส่วนผสม กล้วยน้ำว้าดิบ                     400    กรัม เนื้อหมูสามชั้น                    100    กรัม ชะอมเด็ด                             50      กรัม ชะพลูหั่นหยาบ                   50      กรัม หอมแดงซอย                        1     ช้อนโต๊ะ ส่วนผสมพริกแกง พริกขี้หนูแห้ง                      15      เม็ด กระเทียม                            10      กรัม หอมแดง                            30      กรัม ข่าหั่น                                 1        ช้อนโต๊ะ ตะไคร้ซอย                         1        ช้อนโต๊ะ กะปิ                                     1        ช้อนโต๊ะ ปลาร้าต้มสุก                      1        ช้อนโต๊ะ เกลือ                                 1/2     ช้อนชา วิธีทำ ตำหรือปั่นส่วนผสมพริกแกงให้ละเอียด จากนั้นนำไปผัดกับหมูสามชั้นจนมีกลิ่นหอม และหมูเริ่มสุก เติมน้ำให้พอท่วม ตั้งไฟจนเดือด ใส่กล้วยน้ำว้าดิบหั่นเป็นแผ่นบางๆ ตั้งไฟจนเดือดอีกครั้ง ใส่หอมแดงซอย ชะอมเด็ด และใบชะพลู คนให้เข้ากันและผักสุก ตักขึ้นเสิร์ฟ


เพิ่มเติม

อาหารภาคเหนือ

แกงกระด้าง

ความเป็นมา แกงกระด้าง หรือ แกงหมูกระด้าง นิยมใช้ขาหมูทำ เพราะเป็นส่วนที่ทำให้แกงข้น เกาะตัว หรือกระด้างง่าย  แกงกระด้างมี 2 สูตร คือแบบเชียงใหม่ และแบบเชียงราย สำหรับแกงกระด้างแบบเชียงรายจะใส่เครื่องแกงลงไปขณะต้มขาหมู   คุณค่าทางโภชนาการ ขาหมูมีโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกาย นอกจากนั้นส่วนผสมเครื่องปรุงต่างๆยังมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น หอมแดง ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ บำรุงหัวใจ   ส่วนผสม ขาหมู (ไม่เอากระดูก)                     1        กิโลกรัม หอมแดง                                         30      กรัม กระเทียม                                        20      กรัม พริกไทยป่น                                    1        ช้อนชา รากผักชี หั่นละเอียด                      2        ช้อนชา เกลือ                                               1        ช้อนชา น้ำปลา                                            2        ช้อนโต๊ะ ผักชีหั่นฝอย                                   2        ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ล้างเนื้อขาหมูให้สะอาด จากนั้นนำไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อนจนสุกนุ่ม โขลกกระเทียม พริกไทย รากผักชีให้ละเอียดใส่ลงในหม้อต้มขาหมู ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลา ชิมรส จากนั้นเทใส่ถาดนำไปแช่ตู้เย็นจนเซ็ทตัว ตัดเสิร์ฟโรยหน้าด้วยผักชีหั่นฝอย


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

หมูฮ้อง

ความเป็นมา หมูฮ้องทำจากหมูสามชั้นคล้ายกับหมูต้มเค็มที่มีรสหวาน บางคนบอกว่าการกินหมูสามชั้นเป็นอิทธิพลของจีนคล้ายกับพะโล้ แต่หมูฮ้องจะมีน้ำน้อยกว่าและไม่มีไข่ และเต้าหู้ ปรุงรสให้หอมด้วยรากผักชี กระเทียม พริกไทย และใส่อบเชย โป๊ยกั๊ก ซีอิ๊วดำ เครื่องเทศที่เหมือนใส่ในพะโล้   คุณค่าทางโภชนาการ ไขมันในหมูเป็นไขมันอิ่มตัวที่อาจจะมีปัญหากับคนที่มีคอเลสเตอรอลสูง แต่ไขมันในเนื้อหมูช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และเลือดหมุนเวียนได้ดี เนื้อหมูมีโปรตีนและวิตามินบีชนิดต่างๆ ในปริมาณที่สูงมาก มีธาตุสังกะสีในปริมาณมากพอสมควร เนื้อหมู 100 กรัมให้พลังงาน 376 แคลอรี โปรตีน 14.4 กรัม ไขมัน 35.0 กรัม   ส่วนผสม หมูสามชั้น             2     กิโลกรัม กระเทียมบุบ           1/3  ถ้วย รากผักชีหั่นฝอย     ¼    ถ้วย พริกไทยเม็ด         2     ช้อนโต๊ะ น้ำมันหมู              3     ช้อนโต๊ะ อบเชย                  1     แท่ง โป๊ยกั๊ก                  2     ดอก ซีอิ๊วดำ                  6     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลมะพร้าว      2     ช้อนโต๊ะ น้ำสะอาด               1     ลิตร ซีอิ๊วขาว                 5     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย          1     ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ตำพริกไทยเม็ด โป๊ยกั๊ก ให้ละเอียด ตักลงในอ่างผสม ใส่น้ำตาล ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ น้ำมันหมู คนให้น้ำตาลละลาย จากนั้นใส่หมูสามชั้นหั่นชิ้นใหญ่คลุกเคล้าให้เข้ากัน พักไว้ 30 นาที จากนั้นนำลงไปผัดในหม้อหรือกระทะให้หมูเริ่มสุก เติมน้ำสะอาด ใส่อบเชย รากผักชี และกระเทียม ตั้งเคี่ยวจนน้ำงวดลง หมูสุกและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

หมูผัดกะปิ

ความเป็นมา จานนี้เป็นอาหารธรรมดาหาทานง่ายที่ใช้เนื้อสัตว์อย่างหมูมาผัดกับกะปิ เครื่องปรุงติดครัวที่มีกันทุกบ้านมาผัดรวมกัน เพิ่มรสชาติให้อร่อยด้วยรสหวานนิดๆ จากน้ำตาลปี๊บ แต่ยังต้องมีรสเค็มและกลิ่นที่หอมกะปิ อีกทั้งยังต้องใส่สะตอซึ่งถือเป็นผักประจำถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของทางใต้   คุณค่าทางโภชนาการ หมูเป็นเนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีนและไขมันสูง อีกทั้งกะปิต้องใช้มากและผัดจนเคลือบชิ้นหมู สะตอเนื้อนุ่มกรอบ รสมัน กลิ่นรุนแรง ต่างก็ให้โปรตีนสูง และจะยิ่งได้สารอาหารสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเมื่อกินร่วมกับเนื้อสัตว์ ถือได้ว่าเป็นกับข้าวที่อุดมไปด้วยโปรตีนอีกจานหนึ่ง   ส่วนผสม สันคอหมูหั่นบาง            500 กรัม กะปิ                               ½    ถ้วย กระเทียม                      1/4  ถ้วย น้ำตาลปี๊บ                    3     ช้อนโต๊ะ พริกขี้หนูสวน               1     ช้อนโต๊ะ สะตอ                           1     ถ้วย   วิธีทำ ผัดกะปิ และกระเทียมกับน้ำมันพืชเล็กน้อยให้พอมีกลิ่นหอม ใส่หมูผัดให้พอสุก ใส่สะตอ ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ ใส่พริกขี้หนู ผัดเร็วๆ ให้สุกทั่ว ตักเสิร์ฟ


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ยำลูกมุดใบชะพลู

ความเป็นมา มะมุด ลูกมุด ม่วงมุด ส้มมุด มะม่วงป่า เป็นผลไม้ชนิดเดียวกัน แต่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น มะมุดเป็นผลไม้พันธุ์เดียวกับมะม่วง รสเปรี้ยวกว่า เนื้อแน่นเหนียวกว่า กลิ่นหอมฉุน และลูกโตกว่า คนใต้จึงนิยมนำมาทำอาหารที่ให้รสเปรี้ยว เช่น แกงส้ม ยำ จานนี้นำมะมุดมาซอยแล้วยำใส่มะพร้าวคั่ว บางท้องที่จึงเรียกว่ายำลูกมุดมะพร้าวคั่ว และกินกับใบชะพลู   คุณค่าทางโภชนาการ มะมุดเป็นผลไม้รสเปรี้ยวจึงให้วิตามินซีสูง สามารถช่วยป้องกันไข้หวัดได้อย่างดี และเมื่อนำมายำรวมกับหอมแดง พริก จะให้รสเผ็ดซึ่งช่วยทำให้สมองปลอดโปร่ง ใส่มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสง ซึ่งมีโปรตีน เคี้ยวมันๆ อร่อยๆ และกินคู่กับใบชะพลูผักสีเขียวที่มีทั้งเบต้าแคโรทีน และมีแคลเซียมมากถึง 298 มิลลิกรัมใน 100 กรัม   ส่วนผสม ลูกมุดซอย                    1     ถ้วย มะพร้าวคั่ว                   ¾    ถ้วย ถั่วลิสงคั่วบุบหยาบ         1/3  ถ้วย กุ้งแห้งตำ                        1/3  ถ้วย หอมแดงซอย                  ½    ถ้วย พริกขี้หนูซอย                  5     กรัม เกลือ                                 1     ช้อนชา น้ำตาลทราย                    1 1/2      ช้อนโต๊ะ ใบชะพลู   วิธีทำ นำส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงในภาชนะสำหรับคลุก หรือจะใส่ลงไปครกเพื่อตำเบาๆให้พอช้ำ ปรุงรสด้วยเกลือ และน้ำตาลทราย กินกับใบชะพลูสด    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ยำผักกูดกุ้งสด

ความเป็นมา ผักกูดเป็นผักพื้นบ้านที่มีต้นคล้ายกับเฟิร์น ลำต้นยาว ยอดงอม้วน ขึ้นตามชายป่าริมน้ำ ซึ่งเป็นภูมิประเทศของแถบทางใต้ ถ้าขึ้นที่ใดแสดงว่าบริเวณนั้นดินดีไม่มีสารปนเปื้อน ชาวบ้านช่างสังเกตเก็บผักนี้มาทำอาหารได้ทั้งลวกจิ้มน้ำพริก ผัด ยำ   คุณค่าทางโภชนาการ ผักกูดเป็นผักรสจืดอมหวานนิดๆ ทั้งใบและต้นสีเขียวมีเบต้าแคโรทีนสูงมาก ซึ่งจะช่วยบำรุงร่างกายโดยเฉพาะสายตาได้อย่างดี และที่ชาญฉลาดกว่านั้นเบต้าแคโรทีนจะดูดซึมได้ดีเมื่อมีไขมันร่วมด้วย การราดกะทิลงในยำจานนี้จึงทำให้ได้คุณค่าอาหารอย่างเต็มเปี่ยม   ส่วนผสม ผักกูดเด็ดยาว 1 นิ้ว ลวก        100 กรัม กุ้งสดลวก                               80   กรัม หัวกะทิ                                    ½    ถ้วย ถั่วลิสงบุบหยาบ                      ¼    ถ้วย หอมแดงซอย                           ½    ถ้วย มะพร้าวคั่ว                                ¼    ถ้วย กุ้งแห้งตำ                                  ¼    ถ้วย พริกขี้หนูซอย                            5     กรัม น้ำมะนาว                                    2     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย                                2     ช้อนโต๊ะ เกลือ                                             1     ช้อนชา วิธีทำ ผสมน้ำมะนาว น้ำตาลทราย เกลือ ให้เข้ากัน จากนั้นจึงใส่ส่วนผสมอื่นๆ ยกเว้นกะทิลงไปคลุกเคล้าให้ทั่ว เมื่อจะเสิร์ฟจึงราดกะทิบนหน้า ก่อนรับประทานคลุกให้เข้ากันอีกครั้ง


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ยำใบบัวบก

ความเป็นมา ยำเป็นอาหารรสจัดนิยมกินกันในภาคกลางและภาคใต้ แต่จะมีส่วนผสมแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและความชอบ ยำใบบัวบกเป็นการนำผักที่นิยมกินสดในถาดผักเหนาะมายำใส่มะพร้าวคั่วให้เคี้ยวมันๆ  ใส่กุ้งแห้งป่น กุ้งสด และมีรสเผ็ดหอมจากหอมแดงซอย   คุณค่าทางโภชนาการ ใบบัวบกใบสีเขียวกลมหยัก รสมันน้อยๆ มีสรรพคุณช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ช่วยทำให้ความจำและสมองทำงานได้ดี ซึ่งตรงกับคัมภีร์อายุรเวทของพราหมณ์ที่บอกว่าใบบัวบกทำให้สมองสีเทาและสีขาวแข็งแรง ใบบัวบก 100 กรัมมีวิตามินบี 1 หรือไทอามีน 0.24 มิลลิกรัมซึ่งมากกว่าผักอื่นๆ มีเบต้าแคโรทีน 238 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ไม่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดและมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่คนปัจจุบันเป็นกันมาก ยำใบบัวบกจานนี้จึงช่วยได้เป็นอย่างดี   ส่วนผสม ใบบัวบกซอยละเอียด            2     ถ้วย หอมเล็กซอย                          1     ถ้วย กุ้งแห้งป่น                               ¼    ถ้วย มะพร้าวคั่ว                              ¼    ถ้วย กุ้งลวกหรือย่าง หั่นชิ้นเล็ก     100 กรัม ส่วนผสมน้ำยำ น้ำตาลปี๊บ                    1 ½ ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                        2     ช้อนชา น้ำมะนาว                    2     ช้อนโต๊ะ กะปิย่าง                       2     ช้อนชา พริกขี้หนูซอย               5     กรัม   วิธีทำ ผสมส่วนผสมน้ำยำเข้าด้วยกัน จากนั้นนำมาคลุกเค้ากับเครื่องยำให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ผัดสะตอหมูกุ้ง

ความเป็นมา อาหารที่นำผักท้องถิ่นของภาคใต้มาผัดกับเนื้อหมู กุ้ง ใส่กะปิให้มีรสเค็ม และมีกลิ่นหอมจากหอมแดง กระเทียม ใช้เทคนิคการผัดกับน้ำมันโดยใช้ไฟร้อนเหมือนกับการผัดทั่วไป นับเป็นอาหารที่แพร่หลายในหลายภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะในภาคใต้เท่านั้น   คุณค่าทางโภชาการ เม็ดสะตอเนื้อนุ่มกรอบ รสมัน มีกลิ่นรุนแรง จะกินสดหรือผัดให้สุกก็ได้ สะตอเป็นผักที่ให้พลังงานค่อนข้างสูง สะตอ 20 เม็ดให้พลังงานพอๆ กับขนมปัง 2 แผ่น และยังอุดมไปด้วยโปรตีน สะตอ 100 กรัมให้พลังงาน  130  กิโลแคลอรี  โปรตีน 8 กรัม คาร์โบไฮเดรท 15.5 กรัม แคลเซียม 76 มิลลิกรัม และฟอสฟอรัส 83 มิลลิกรัม   ส่วนผสม เนื้อหมูหั่นบาง               300 กรัม กุ้งแชบ๊วย                     300 กรัม สะตอ                           ½    ถ้วย น้ำมันสำหรับผัด            2     ช้อนโต๊ะ กะปิ                                1     ช้อนโต๊ะ กระเทียม                       10   กรัม หอมแดง                        40   กรัม น้ำปลา                            2     ช้อนชา เกลือ                               ½    ช้อนชา พริกชี้ฟ้าแดงหั่นแฉลบ          1     เม็ด    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ผักเหลียงต้มกะทิกุ้งสด

ความเป็นมา แกงกะทิที่มีทั้งแบบเผ็ดและไม่เผ็ดเป็นอาหารยอดนิยมของคนใต้ ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเลและปลูกมะพร้าวมาก อาหารจานนี้นำกะทิมาต้มกับผักพื้นบ้านอย่างผักเหลียง ใส่กุ้ง และใส่หอมแดงให้มีกลิ่นหอม ทีรสหวาน เพิ่มรสเค็มด้วยกะปิ เป็นแกงรสอร่อยที่กินได้คล่องคอ   คุณค่าทางโภชนาการ ใบเหลียงผักพื้นบ้านใบเขียวเนื้อกรอบ รสหวานมัน มีเบต้าแคโรทีนจากสีเขียวอย่าง ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ทำให้ไม่ป่วยจากโรคที่คนนิยมเป็นกัน เช่น โรคจากหลอดเลือด โรคหัวใจ ยิ่งเมื่อแกงกับกะทิที่มีไขมันจะช่วยดูดซึมวิตามินได้อย่างดี และยังได้โปรตีนจากเนื้อกุ้งอีกด้วย   ส่วนผสม ผักเหลียง                    500 กรัม กุ้งสด                           200 กรัม กะทิ                             4     ถ้วย หอมแดงบุบ                  40   กรัม กะปิ                              1     ช้อนโต๊ะ น้ำตาล                          2     ช้อนโต๊ะ เกลือ                            1     ช้อนชา วิธีทำ ละลายกะปิกับกะทิเล็กน้อยเพื่อไม่ให้เป็นก้อน จากนั้นเติมกะทิที่เหลือลงไปในหม้อยกขึ้นตั้งไฟ ใส่หอมแดงบุบ รอจนเริ่มเดือด จากนั้นใส่กุ้งสด ปรุงรสด้วยน้ำตาล และเกลือ พอเดือดอีกครั้งใส่ผักเหลียง ต้มต่อให้ผักเหลียงสุกนุ่ม ตักเสิร์ฟ


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ปลาทรายทอดขมิ้น

ความเป็นมา ปลาทรายหรือปลาเห็ดโคนเป็นปลาที่ตัวไม่ใหญ่มาก มีชุกชุมในแถบชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย จึงเป็นปลายอดนิยมที่คนใต้นำมาทำแกงหรือทอด โดยเฉพาะนำมาทอดขมิ้นซึ่งเป็นสมุนไพรยอดนิยม เมื่อนำไปคลุกกับปลาทรายแล้วทอดจะทำให้มีสีเหลืองสวย เนื้อกรอบน่ากินเป็นเมนูยอดนิยมขึ้นชื่อของทางใต้จานหนึ่ง   คุณค่าทางโภชนาการ เนื้อปลามีไขมันโอเมก้า 3 สูง เนื้อหวานละเอียด มีโปรตีนสูง ซึ่งจะไปช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และยังมีไขมันที่ดีช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด  ส่วนขมิ้นสีเหลืองเข้มเป็นสมุนไพรที่ช่วยแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาจช่วยรักษาแผลในกระเพาะ และทำลายเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหาร   ส่วนผสม ปลาทราย                     500 กรัม ขมิ้นซอย                     1/2  ถ้วย ตะไคร้ซอย                   ½    ถ้วย กระเทียม                      ¼    ถ้วย เกลือ                           2     ช้อนชา น้ำมันสำหรับทอด วิธีทำ ตำขมิ้น ตะไคร้ กระเทียม เกลือ ทั้งหมดให้เข้ากับ นำปลาทรายที่ขอดเกล็ด ควักไส้ แล้วลงไปคลุกและหมักทิ้งไว้ 15-30 นาที จากนั้นนำลงไปทอดจนสุกเหลือง และกรอบ    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ปลากระบอกต้มส้มโหนด

ความเป็นมา ต้มโนด หรือ น้ำส้มโหนด เป็นน้ำส้มสายชูหมักจากน้ำตาลโตนด ซึ่งเป็นการทำน้ำตาลหวานที่ได้จากต้นตาลมาทำเป็นน้ำตาลเปรี้ยว หรือน้ำสายชูเปรี้ยว นับเป็นภูมิปัญญาของคนใต้ที่นำพืชท้องถิ่นมาแปรรูปได้อย่างสร้างสรรค์ นำมาต้มปลากระบอกที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นรสชาติธรรมชาติจากท้องถิ่นโดยแท้จริง   คุณค่าทางโภชนาการ น้ำส้มสายชูหมักเป็นการหมักตามกรรมวิธีธรรมชาติ รสจะไม่เปรี้ยวจัด เมื่อหมักจากน้ำตาลโตนด ทำให้มีกลิ่นเปรี้ยวหอมที่นำไปทำอาหารได้กลิ่นเป็นเอกลักษณ์ชวนกิน น้ำส้มสายชูให้รสเปรี้ยวมีวิตามินซีที่ช่วยป้องกันโรคหวัดคัดจมูกได้อย่างดี จานนี้มีรสเปรี้ยวหวาน คล้ายต้มส้มของภาคกลาง จึงทำให้กินปลาที่มีโปรตีนได้อร่อย และไม่มีไขมันให้กังวลใจ  ส่วนผสม ปลากระบอกตัวขนาดกลาง           500 กรัม น้ำส้มสายชูตาลโตนด หรือน้ำส้มโหนด  ½    ถ้วย ขมิ้นยาว 2 นิ้วบุบ                 1     ชิ้น ตะไคร้บุบ                            30   กรัม หอมแดงบุบ                         40   กรัม พริกขี้หนูบุบ                         5     กรัม น้ำตาลแว่น                           20   กรัม เกลือ                                     1     ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ตั้งน้ำสะอาด 5 ถ้วย ใส่ตะไคร้ ขมิ้น และหอมแดง บนไฟแรงจนเดือด ใส่ปลากระบอกลงไปต้มจนสุก ปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู น้ำตาล และเกลือ ใส่พริกขี้หนู รอให้เดือดอีกครั้ง ตักเสิร์ฟร้อนๆ


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ใบเหลียงผัดไข่

ความเป็นมา ผักเหลียง ผักเหมียง หรือ ผักเขรียง เป็นชื่อเดียวกัน แต่เรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ว่ากันว่าอาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า เลียง เพราะสมัยก่อนส่วนใหญ่นำมาทำแกงเลียง ผักเหลียงถือเป็นราชินีผักพื้นบ้านของภาคใต้ คนใต้นิยมกินกันทั่วไป ไม่ว่าจะนำไปลวก หรือกินสดอยู่ในถาดผักเหนาะ ผัดน้ำมันกินกับน้ำพริก ใส่แกงเผ็ด แกงส้ม ผักรองห่อหมก และแกงจืดหมูสับ ใบเหลียงผัดไข่เป็นอาหารที่ไม่ได้นิยมกันแต่ในภาคใต้ ปัจจุบันเป็นอาหารใต้ที่นิยมแพร่หลายในกรุงเทพฯ   คุณค่าทางโภชนาการ ใบเหลียงคล้ายกับใบของยางพรารา มีสีเขียวเป็นมันยาวประมาณ 10-20 ซ.ม.เป็นพันธุ์ไม้ป่า พบได้ตามเนินเขาและที่ราบ จัดเป็นผักปลอดสารพิษเพราะไม่มีแมลงและโรครบกวน ใบเหลียงมีรสชาติหวานมันเป็นแหล่งของเบต้าแคโรทีนอย่างดี มีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตาและป้องกันตามืดมัวในยามดึก ใบเหลียง 100 กรัม ให้พลังงาน 91 กิโลแคลอรี  แคลเซียม 150.5 มิลลิกรัม   ส่วนผสม ใบเหลียง                      100 กรัม ไข่ไก่                             2     ฟอง กระเทียมสับ                  5     กรัม น้ำมันพืช                        2     ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                            1     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย                   1     ช้อนชา   วิธีทำ ผัดกระเทียมกับน้ำมันพืชให้มีกลิ่นหอม นำใบเหลียงลงไปผัดให้ผักเริ่มสลด จากนั้นเกลี่ยใบเหลียงไว้มุมหนึ่ง ตอกไข่ใส่ลงไปในกระทะ ยีให้ไข่แตกและเริ่มสุก จากนั้นนำใบเหลียงลงมาผัดคลุกกับไข่ ปรุงรสด้วยน้ำปลา และน้ำตาลทราย ตักขึ้นเสิร์ฟ    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

บูดูทรงเครื่องผักสด

ความเป็นมา บูดู เป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งของคนใต้ที่มีปลามาก จึงนำปลามาหมักกับเกลือไว้ประมาณ 8- 15 เดือน คล้ายกับการหมักปลาร้าของทางภาคอีสาน เมื่อหมักได้ที่แล้วจึงนำมาทำอาหารได้หลากหลาย คำว่า “บูดู” มาจากภาษาอินโดนีเซียที่แปลว่า ปลาหมักดอง และเป็นคนนำวิธีการหมักปลามาสู่คนไทยที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี น้ำบูดูหมักจากปลากะตักจึงมีชื่อเสียงว่ากลิ่นหอมและรสชาติที่ดี   คุณค่าทางโภชนาการ บูดูทรงเครื่องนี้ใช้ทั้งน้ำบูดูซึ่งเป็นปลาหมักที่มีโปรตีนสูง และยังใส่กุ้งสดและปลาช่วยเสริมโปรตีนให้มากยิ่งขึ้น และยังมีสมุนไพรอย่างเช่นขมิ้นที่ช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยขับปัสสาวะ ใบมะกรูดที่มีน้ำมันหอมระเหยช่วยบรรเทาอาการวิงเวียน และยังมีรสเผ็ดจากพริก เปรี้ยวจากมะนาว รสจึงเผ็ด เปรี้ยว เค็ม ที่ทำให้กินผักสดที่มีวิตามินต่างๆ ได้อย่างมากมาย   ส่วนผสม น้ำบูดู                          380 กรัม น้ำสะอาด                     2     ถ้วย กุ้งสดสับหยาบ              300 กรัม ปลาย่างฉีกเนื้อให้ละเอียด      200 กรัม หอมแดงซอย                1     ถ้วย ตะไคร้บุบทั้งต้น            30   กรัม ตะไคร้ซอย                   1     ถ้วย ใบมะกรูดซอย               1/2  ถ้วย พริกสดซอย                  ¼    ถ้วย น้ำมะนาว                      ½    ถ้วย น้ำตาลแว่น                   50   กรัม ผักสดต่างๆ  เช่น สะตอ ลูกเนียง แตงกวา มะเขือเปราะ ใบบัวบก ชะอม สำหรับกินร่วมกัน   วิธีทำ ผสมน้ำบูดูกับน้ำเปล่า ใส่ตะไคร้ทั้งต้น ต้มจนเดือด แล้วกรองน้ำไว้ นำน้ำบูดูมาต้มอีกครั้ง ใส่น้ำตาลแว่น กุ้ง ปลาย่าง รอจนกุ้งสุก ยกลงจากเตา พักไว้ให้เย็น ใส่หอมแดง ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก น้ำมะนาว คนให้เข้ากัน ปรุงรสให้ออกรสเปรี้ยว เค็ม หวานกินกับผักสดต่างๆ    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

น้ำพริกกุ้งเสียบ

ความเป็นมา กุ้งเสียบเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งของคนใต้ที่มีพื้นที่ติดทะเลและมีกุ้งมาก โดยนำกุ้งนางไม่แกะเปลือกมาเสียบไม้ ปิ้งไฟอ่อนๆ รมควันจนน้ำในตัวกุ้งแห้ง ทำให้เก็บได้นานและมีกลิ่นหอมรมควัน นำมาทำอาหารได้หลากหลาย แต่ที่นิยมมากที่สุด คือ น้ำพริก ซึ่งรสชาติและส่วนผสมไม่ต่างจากน้ำพริกของภาคกลาง ที่มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน แต่ทางใต้จะนิยมกินรสเผ็ดจัดมากกว่า   คุณค่าทางโภชนาการ การรมควันหรือปิ้งไม่ทำให้โปรตีนในอาหารลดน้อยลง กุ้งเสียบจึงมีโปรตีนและยิ่งมีเปลือกจึงให้แคลเซียมสูงไปด้วย ส่วนผสมในน้ำพริก เช่น กระเทียม ช่วยลดคอเลสเตอรอล หอมแดงช่วยให้สดชื่น สิ่งสำคัญคือผักสดที่กินร่วมกันหรือที่คนใต้เรียกว่าถาดผักเหนาะ เพราะมีผักพื้นบ้านที่ให้วิตามิน และเบต้าแคโรทีนสูง เช่น ยอดมะม่วงหิมพานต์  ใบบัวบก ถั่วฝักยาว เป็นต้น   ส่วนผสม กุ้งเสียบคั่วกรอบ            1     ถ้วย หอมแดง                     30   กรัม กระเทียม                    20   กรัม กะปิย่างไฟ                   2     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปี๊บ                    2     ช้อนโต๊ะ น้ำมะนาว                     3     ช้อนโต๊ะ น้ำปลาดี                       1     ช้อนชา พริกขี้หนู                     10   กรัม วิธีทำ   ตำกระเทียมและกะปิให้ละเอียด ใส่หอมแดง และพริกขี้หนู ตำให้ละเอียดดี ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ และน้ำปลา จากนั้นใส่กุ้งเสียบ อาจจะคนหรือใช้สากบุบให้พอเข้ากัน ตักขึ้น เติมน้ำมะนาวคนให้เข้ากันอีกครั้ง


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

คั่วกลิ้งหมู

ความเป็นมา คั่วกลิ้งเป็นอาหารใต้อีกจานที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน เพราะมีรสเผ็ดร้อนของพริกแกงที่มีทั้งพริกสด พริกแห้ง และสมุนไพรเด่นชัด เมื่อนำไปผัดยังต้องใส่สมุนไพรซอย เช่น ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด เพิ่มลงไป สีเหลืองจัดเพราะใส่ขมิ้น รสชาติทั้งเผ็ดทั้งร้อน จัดจ้าน และเมื่อเห็นร้านอาหารไหนขายคั่วกลิ้งจะรู้ทันทีว่าเป็นอาหารภาคใดไม่ได้นอกจากอาหารใต้เท่านั้น   คุณค่าทางโภชนาการ สีเหลืองเด่นของคั่วกลิ้งที่เคลือบหมูสับหรือไก่สับและสมุนไพรต่างๆ เป็นสีของขมิ้น สารสีเหลืองในขมิ้นนี้คือ “เคอร์คูมิน” ที่มีฤทธิ์เป็นกรดซึ่งมีสรรพคุณเป็นยา ช่วยรักษาแก้ท้องอืดท้องเสีย ปัจจุบันยังค้นพบว่าช่วยป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เมื่อกินขมิ้นพร้อมกับอาหารจะช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้ และยังช่วยทำลายไวรัสที่ปนเปื้อนมากับอาหารได้  คั่วกลิ้งจึงจัดเป็น “อาหารเป็นยา” อย่างแท้จริง   ส่วนผสมพริกแกง พริกขี้หนูแห้ง 20 เม็ด ข่าหั่นแว่น 20 กรัม พริกไทยดำเม็ด 1 ช้อนโต๊ะ ขมิ้นยาว 2 นิ้ว  ตะไคร้ซอย  50 กรัม หอมแดง 40 กรัม กระเทียม 10 กรัม ผิวมะกรูด ½ ลูก กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนชา  ตำส่วนผสมพริกแกงทุกกอย่างรวมกันจนละเอียด   ส่วนผสม เนื้อหมูสับหยาบ            500 กรัม พริกแกง                      1/2  ถ้วย ตะไคร้ซอย                   30   กรัม ข่าสับหยาบ                  3     ช้อนโต๊ะ ใบมะกรูดซอย               ¼    ถ้วย น้ำมัน                           2     ช้อนโต๊ะ น้ำสะอาด                     1     ถ้วย น้ำตาลทราย                 1     ช้อนโต๊ะ   วิธีทำ ผัดเครื่องแกงกับน้ำมันจนหอม ใส่หมูลงผัดให้เข้ากัน ค่อยๆ เติมน้ำเปล่าทีละน้อย ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ใช้ไฟอ่อนคั่วไปเรื่อยๆ จนเนื้อหมูสุกแห้ง    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ข้าวยำสงขลา

ความเป็นมา ข้าวยำเป็นอาหารจานเดียวของคนใต้ที่นำข้าวมากินกับผักสดพื้นบ้านนานาชนิด ซึ่งมีรสต่างๆ กัน  เช่น ผักรสจืด แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักรสเผ็ด เช่น ใบชะพลู สมุนไพร เช่น ตะไคร้ ใบมะกรูด ผักทุกอย่างต้องซอยให้บางเพื่อเคี้ยวได้อร่อย  และโรยด้วยมะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งตำ ราดด้วยน้ำบูดู ข้าวยำของแต่ละจังหวัดจะแตกต่างกันไปตามความนิยมและพืชผักพื้นบ้านที่หาได้ ถ้าเปรียบไปข้าวยำก็คล้ายกับสลัดของฝรั่ง   คุณค่าทางโภชนาการ ข้าวยำจัดเป็นอาหารครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ ไขมันต่ำ มีคาร์โบไฮเดรทจากข้าว ไขมันจากมะพร้าวคั่ว โปรตีนจากกุ้งแห้งและน้ำบูดูซึ่งทำจากปลาหมักที่นำมาปรุงรส ผักสดใบเขียวต่างๆ เป็นแหล่งของเบต้าแคโรทีน วิตามิน และกากใยต่างๆ ที่ช่วยระบายท้อง และยังสามารถจัดเป็นอาหารลดน้ำหนักที่มีคุณค่าทางอาหาร และวิตามินครบถ้วนอีกด้วย   ส่วนผสม ข้าวสวย                        1 ½ ถ้วย ข้าวตังทอด                   1     ถ้วย มะพร้าวคั่วเหลือง          4     ช้อนโต๊ะ กุ้งแห้งป่น                     4     ช้อนโต๊ะ น้ำบูดู                            ½    ถ้วย พริกแห้งป่น เหมือดหรือผักต่างๆ เช่น ถั่วฝักยาวหั่นบางๆ ใบพาโหมหรือใบชะพลูหั่นฝอย ถั่วงอก (เด็ดหาง) แตงกวาหั่น ตะไคร้ซอยบาง เมล็ดกระถิน มะม่วงซอย หรือมะนาว เป็นต้น วิธีทำ ซอยผักทั้งหมดเป็นเส้นๆ หรือซอยหยาบแยกกันไว้ ตักข้าวหุงสุกใส่จาน เรียงผักรอบๆ ให้สวยงาม ตักน้ำบูดูที่ปรุงรสแล้วแยกใส่ถ้วยไว้ เมื่อจะรับประทานนำน้ำบูดูราดลงไปในข้า และคลุกส่วนผสมทั้งหมดรวมกันก่อนรับประทาน    


เพิ่มเติม

close[x]
Questionnaire