SLider section

อาหาร 4 ภาค

อาหารภาคใต้

ไก่บ้านต้มขมิ้น

ความเป็นมา ไก่บ้านเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านที่เลี้ยงไว้กินทั้งไข่ และเนื้อ โดยเลี้ยงปล่อยในธรรมชาติให้ขุดคุ้ยหากินเอง เนื้อไก่จึงเหนียวไม่ยุ่ย รสชาติหวานอร่อย นำมาต้มกับขมิ้นสมุนไพรท้องถิ่นที่ชาวบ้านปลูกไว้ กลายเป็นอาหารง่ายๆ ที่สามารถทำกินได้บ่อยครั้ง   คุณค่าทางโภชนาการ เนื้อไก่เป็นเนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีนสูงไขมันต่ำ จึงช่วยสร้างกล้ามเนื้อได้อย่างดีและช่วยเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอของร่างกายได้โดยไม่ต้องกังวลใจเรื่องไขมันที่จะสร้างปัญหา และเนื่องจากเป็นไก่บ้านจึงไม่มีอันตรายจากสารเคมีต่างๆ ส่วนขมิ้นสีเหลืองเข้มสวยช่วยให้จานนี้มีสีสันน่ากิน และยังช่วยแก้ท้องอืด สมานแผลในลำไส้ และเมื่อไม่นานนี้มีการวิจัยว่าช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย   ส่วนผสม ไก่บ้านสับเป็นชิ้นเล็ก            1     กก. ขมิ้นยาว 2 นิ้ว              1     ชิ้น ตะไคร้บุบ                     40   กรัม หอมแดงบุบ                  40   กรัม กระเทียมบุบ                 10   กรัม พริกขี้หนูบุบ                 5     กรัม เกลือ                             2     ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ตั้งน้ำ 2 ลิตร ใส่หอมแดง ตะไคร้ ขมิ้นและกระเทียมตั้งไฟให้เดือด จากนั้นใส่ไก่บ้านลงต้มให้พอสุก ปรุงรสด้วยเกลือ ใส่พริกขี้หนู ตั้งไฟให้เดือดอีกครั้ง ตักเสิร์ฟ    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ไก่ทอดหาดใหญ่

ความเป็นมา ภาคใต้มีพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซียซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมที่อพยพมาจากอินเดีย อาหารหลายอย่างจึงใช้เครื่องเทศเป็นส่วนผสม อาหารใต้ส่วนใหญ่จึงได้รับอิทธิพลมา ไก่ทอดหาดใหญ่จะต้องหมักด้วยลูกผักชี ยี่หร่า พริกไทย มีกลิ่นหอมแตกต่างจากไก่ทอดภาคอื่น และต้องชุบแป้งทอดเพื่อให้ผิวนอกกรอบเนื้อในนุ่ม ที่สำคัญซึ่งขาดไม่ได้คือต้องโรยหอมเจียวให้มีกลิ่นหอมซึ่งคนมุสลิมนิยมกินกัน   คุณค่าทางโภชนาการ เนื้อไก่เป็นเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ อุดมไปด้วยวิตามินบีชนิดต่างๆ สำหรับบำรุงระบบประสาทให้แข็งแรง มีธาตุสังกะสีในปริมาณพอสมควร และมีกรดไขมันชนิดอิ่มตัวค่อนข้างต่ำ เนื้อไก่ติดหนังหนัก 100 กรัมให้พลังงาน 247 กิโลแคลอรี โปรตีน 25 กรัม ไขมัน 16 กรัม   ส่วนผสม เนื้อไก่ส่วนน่อง / สะโพก        1     กก. พริกไทยเม็ด                        2     ช้อนโต๊ะ ลูกผักชี                              2     ช้อนโต๊ะ ยี่หร่า                                 1     ช้อนชา กระเทียม                          2     ช้อนโต๊ะ รากผักชี                           15   กรัม ซอสหอยนางรม                2     ช้อนโต๊ะ ซีอิ๊วขาว                            3     ช้อนโต๊ะ เกลือ                                  ½    ช้อนชา น้ำตาล                               1     ช้อนโต๊ะ แป้งข้าวเจ้า                         ½    ถ้วย น้ำปูนใส                              ¼    ถ้วย หอมเจียวสำหรับโรยหน้า    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

แกงเหลืองหน่อไม้ดองกับปลาอินทรี

ความเป็นมา แกงเหลืองก็คือแกงส้มของภาคกลาง แต่ใส่ขมิ้นจึงมีสีเหลืองและเรียกว่าแกงเหลือง เป็นแกงพื้นบ้านที่ทำง่ายๆ กินกันทั่วไป รสเปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวาน แกงเหลืองไม่นิยมรสหวาน และมีรสเผ็ดร้อนเข้มข้นกว่าแกงส้ม แกงนี้สามารถเปลี่ยนส่วนผสมไปตามพืชพรรณของแต่ละท้องที่และเรียกชื่อไปตามพืชผักและเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุง เมนูนี้ใช้หน่อไม้ดองที่มีรสเปรี้ยวตามธรรมชาติ รสหวานจากสับปะรด และไม่ทำให้เผ็ดเกินไป ใส่ปลาอินทรีที่ทางใต้มีอย่างอุดมสมบูรณ์   คุณค่าทางโภชนาการ แกงน้ำใสรสสุขภาพที่มีรสหวาน เปรี้ยว จากพืชผักธรรมชาติโดยแท้จริง รสชาติจึงสดชื่นทั้งส้มมะขามและสับปะรดล้วนมีวิตาซีที่ช้วยป้องกันหวัดมีกากใยที่ช่วยป้องกันท้องผูก จานนี้ยังรสเผ็ดของพริกที่ช่วยแก้หวัดคัดจมูกได้อย่างดี และพริกยังมีสารไบโอเฟลโวนอยด์ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านออกซิเดชั่น ซึ่งอาจจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้   ส่วนผสม พริกแกง                               ½    ถ้วย หน่อไม้ดอง                           1     ถ้วย ปลาอินทรีหั่นชิ้นใหญ่           300 กรัม สับปะรดหั่นชิ้นบาง                100 กรัม น้ำปลา                                   2     ช้อนโต๊ะ น้ำมะขามเปียก                       2     ช้อนโต๊ะ   ส่วนผสมพริกแกง พริกสด 20 เม็ด ขมิ้นยาว  1 นิ้ว กระเทียม 7 กลีบ  กะปิ  1 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนชา ตำทุกอย่างรวมกันให้ละเอียด    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

แกงเผ็ดปลาทรายใบรา

ความเป็นมา แกงน้ำใสที่มีรสเผ็ดร้อนจากพริกแกง และใบรา หรือใบยี่หร่าที่มีรสเผ็ดหอม ร้อนแรง แกงนี้เป็นแกงพื้นบ้านที่ทำไม่ยาก ใช้ของที่มีอยู่มากอย่างปลาทราย และสมุนไพรที่หาได้ง่ายในภูมิภาค มาทำเป็นแกงรสอร่อยซึ่งกินกันทั่วไป  คุณค่าทางโภชนาการ แกงน้ำใสที่มีรสร้อนแรงจากทั้งสมุนไพรและใบยี่หร่า ซึ่งช่วยให้สดชื่น รู้สึกโล่งโปร่งสบาย ช่วยขับลมท้อง เป็นจานสุขภาพที่ได้โปรตีนดีจากเนื้อปลา และไม่มีไขมัน คนที่มีปัญหาเรื่อง คอเลสเตอรอลจึงกินได้อย่างสบายใจ   ส่วนผสม ปลาทรายตัวใหญ่          700 กรัม พริกแกง                        ¼    ถ้วย ใบรา หรือใบยี่หร่า        ½    ถ้วย น้ำสะอาด                      3     ถ้วย ข่าอ่อนหั่นแว่น              20   กรัม พริกไทยอ่อน                15   กรัม ใบมะกรูด                      3     ใบ พริกชี้ฟ้าแดงหั่นแฉลบสำหรับโรยหน้า ส่วนผสมพริกแกง พริกสด 15 กรัม ข่าหั่นแว่น 5 กรัม ขมิ้นยาว 2 นิ้ว  หอมแดง 40 กรัม กระเทียม 10 กรัม พริกไทยเม็ด 1 ช้อนโต๊ะ กะปิ 2 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนชา ตำทุกอย่างให้เข้ากันและละเอียด   วิธีทำ นำน้ำสะอาดตั้งไฟจนเดือด จากนั้นใส่พริกแกง ข่าอ่อน รอจนเดือดอีกครั้ง ใส่ปลาทราย ต้มต่อจนกระทั่งปลาสุก ใส่พริกไทยอ่อน ใบรา ใบมะกรูด ยกลง โรยพริกชี้ฟ้า


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

แกงปูใบชะพลู

ความเป็นมา แกงปูใบชะพลู หรือน้ำยาปู คล้ายกับน้ำยาของภาคกลางที่กินกับขนมจีน ทางใต้มีอาหารทะเลมากจึงใช้เนื้อปูมาทำ ถ้าเป็นจังหวัดภูเก็ตจะใช้ปูสับเป็นชิ้น แต่ในบางจังหวัดใส่เฉพาะเนื้อปู ส่วนพริกแกงมีรสเข้มข้นตามความนิยมของคนใต้และใส่ขมิ้น น้ำแกงจึงมีสีเหลืองสวย รสชาติเข้มข้น โดยทั่วไปจะกินกับขนมจีน แต่ที่ภูเก็ตจะกินกับเส้นหมี่ หรือเรียกว่า “หมี่หุ้น” ซึ่งน่าจะเป็นอิทธิพลของชาวจีนที่อาศัยอยู่มากในภูเก็ต   คุณค่าทางโภชนาการ เนื้อปูเป็นอาหารทะเลที่มีโพแทสเซียมและสังกะสีอยู่สูง โพแทสเซียมช่วยควบคุมความดันโลหิต และทำให้หัวใจเต้นปกติ ส่วนสังกะสีมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ในเนื้อปูต้ม 100 กรัมมีโปรตีน 19.5 กรัม ส่วนใบชะพลูมีวิตามิน แคลเซียม และเบต้าแคโรทีนค่อนข้างสูง ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามิน เอ ได้ดีเพราะมีไขมันจากกะทิมาช่วยดูดซึม   ส่วนผสม ปูทะเลนึ่งหรือเนื้อปูนึ่งสุก       1     ถ้วย น้ำพริกแกง                   2     ช้อนโต๊ะ กะทิ                      1 1/2      ถ้วย น้ำตาลปี๊บ                    1     ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                        2     ช้อนโต๊ะ ใบมะกรูด                     2     ใบ ใบชะพลูซอย                80   กรัม ขนมจีนหรือเส้นหมี่        100 กรัม ส่วนผสมน้ำพริกแกง  พริกชี้ฟ้าแห้ง 7 เม็ด พริกขี้หนูแห้ง 5 เม็ด (ตามชอบ) พริกขี้หนูสด 5-10 เม็ด พริกไทยขาว 1 ช้อนโต๊ะ ข่าหั่นแว่น 1 ช้อนโต๊ะ ตะไคร้หั่นแว่น 2 ช้อนโต๊ะ ผิวมะกรูด 1 ช้อนชา ขมิ้นหั่นแว่น 1 ช้อนโต๊ะ หอมแดง 2 ช้อนโต๊ะ กระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ เกลือทะเล 1 ช้อนชา ตำทุกอย่างให้เข้ากันและละเอียด


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

แกงป่าปลาดุกใส่ใบยี่หร่า

ความเป็นมา แกงป่าเป็นชื่อที่บอกได้ดีว่า เป็นการนำของป่าหรือสมุนไพรสดที่หาได้ในป่ามาปรุงอาหาร ไม่ใส่กะทิ กลิ่นสมุนไพรใช้กลบกลิ่นเนื้อสัตว์ และเพิ่มความหอมให้น่ากิน  ปลาดุกเป็นปลาน้ำจืดที่หาได้ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไปเมื่อนำมาแกงกับสมุนไพรจึงได้กลิ่นหอมและรสเผ็ดร้อนที่ชวนกิน   คุณค่าทางโภชนาการ ปลาดุกเป็นปลาน้ำจืดที่อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันในอันดับต้นๆ มีโอเมก้า 3 ซึ่งหลายคนคิดว่ามีแต่ในปลาทะเลเท่านั้น แต่ปลาดุกมีทั้งโอเมก้า 3 ใกล้เคียงกับปลาน้ำลึก เนื้อปลาดุก 100 กรัมมีโปรตีน  23.0 กรัม และเมื่อแกงรวมกับน้ำพริกแกงและใบยี่หร่าที่มีกลิ่นหอมรสร้อนแรง จานนี้จึงทำให้สมองโล่งโปร่งสบาย   ส่วนผสม ปลาดุกหั่นเป็นชิ้น          300 กรัม น้ำพริกแกงใต้               3     ช้อนโต๊ะ กระชายหั่นฝอย            50   กรัม ใบมะกรูดฉีก                 5     กรัม พริกไทยอ่อน                10   กรัม ใบยี่หร่า                40   กรัม เกลือ                           ½    ช้อนชา วิธีทำ ตั้งน้ำใส่หม้อจนเดือดใส่พริกแกงคนให้ละลาย รอให้เดือดอีกครั้งจึงใส่ปลาต้มจนปลาสุก ใส่กระชาย พริกไทยอ่อน ใบมะกรูด เกลือ ก่อนยกลงใส่ใบยี่หร่า คนให้พอเข้ากัน ตักเสิร์ฟ    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

แกงไตปลา

ความเป็นมา แกงไตปลาอาหารจานเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารใต้ ไตปลาทำมาจากการนำพุงปลา และกระเพาะปลาที่มีอยู่มาก เช่น พุงปลาทู พุงปลาลัง มาใส่เกลือหมักดองไว้ ซึ่งถือเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง เมื่อหมักจนได้ที่ประมาณ 1 เดือน ก็นำมาทำแกง ใส่เนื้อปลา ผัก ที่มีรสชาติเผ็ด เค็ม ร้อนแรง   คุณค่าทางโภชนาการ ไตปลาเป็นของหมักดองที่มีโปรตีนสูง นำมาทำแกงโดยใส่พริกแกงที่มีส่วนผสมของสมุนไพรต่างๆ ซึ่งล้วนมีสรรพคุณช่วยแก้ท้องอืด รสเผ็ดร้อนของพริกช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น มีไขมันจากปลาซึ่งเป็นไขมันดี และมีวิตามินต่างๆ จากผัก เช่น ฟักทองที่มีวิตามินเอ มะเขือพวงช่วยย่อยอาหาร และข้อเด่นของผักทั้งหมดที่ใส่นี้มีกากใยที่ช่วยระบายท้องได้อย่างดี   ส่วนผสมไตปลาปรุงรส ไตปลา(พุงปลาที่หมักได้ที่แล้ว)             1     ถ้วย ตะไคร้บุบ                            3     ต้น ใบมะกรูดฉีก                        5     ใบ ข่าหั่นแว่น                           60   กรัม พริกไทยเม็ดบุบ                    2     ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ต้มไตปลาผสมน้ำแล้วใส่สมุนไพรที่เตรียมไว้ทั้งหมด พอเดือด กรองน้ำไว้ พักไว้ ส่วนผสมพริกแกง กระเทียม 15 กรัม หอมแดง 50 กรัม พริกไทยเม็ด 1 ช้อนโต๊ะ พริกขี้หนูแห้ง 15 เม็ด พริกชี้หนูสด 15 กรัม ขมิ้นยาว 2 นิ้วบุบ  ตำหรือปั่นทุกอย่างรวมกันจนละเอียด พักไว้ ส่วนผสมแกงไตปลา ไตปลาปรุงรส                       1     ถ้วย ปลาย่างแกะเนื้อ                   1     ถ้วย หน่อไม้หั่น                          1     ถ้วย มะเขือเปราะ                        80   กรัม มะเขือพวง                           ½    ถ้วย ถั่วฝักยาวหั่นสั้น                   ½    ถ้วย ฟักทองหั่น                          80   กรัม น้ำสะอาด                            3     ถ้วย ใบมะกรูดฉีก                        5     ใบ วิธีทำ นำไตปลาปรุงรสละลายกับน้ำตั้งไฟจนเดือด ใส่ปลาย่างแกะเนื้อ หน่อไม้ และฟักทอง เมื่อเดือดอีกครั้งใส่มะเขือเปราะ มะเขือพวง และใบมะกรูดฉีก ตักขึ้นเสิร์ฟร้อนๆ


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

แกงคั่วหอยขมใบชะพลู

ความเป็นมา แกงพื้นบ้านที่นำหอยขมหรือหอยจุ๊บที่อยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติมาแกงกับใบชะพลูที่หาได้ง่ายเช่นกัน แกงใส่กะทิที่ได้รสชาติหวานมัน รสเผ็ดร้อนเข้มข้นและกลิ่นหอมจากสมุนไพรสดในเครื่องพริกแกงคั่ว ทำให้เกิดความลงตัวในแกงพื้นบ้านจานนี้อย่างน่าประหลาดใจ   คุณค่าทางโภชนาการ หอยจุ๊บในตำราแพทย์แผนไทยระบุไว้ว่าทั้งเปลือกและเนื้อหอยมีสรรพคุณช่วยแก้กระษัยต่างๆ เช่น แก้ปวดเมื่อย บำรุงกำลัง บำรุงถุงน้ำดี และโรคทางเดินปัสสาวะอย่างโรคนิ่ว และเมื่อนำไปแกงกับใบชะพลูซึ่งมีสารออกซาเลตที่สามารถทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอย่างโรคนิ่วได้ถ้ารับประทานมาก นับเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่นำส่วนผสมทั้ง 2 อย่างนี้มาปรุงเพื่อแก้กันจึงทำให้จานนี้สมดุลกินได้อย่างไม่มีปัญหา   ส่วนผสมพริกแกง พริกขี้หนูสด 15 เม็ด ตะไคร้ซอย 2 ต้น กระเทียม 10 กลีบ หอมแดง 5 หัว ขมิ้นยาว 2 นิ้ว ข่าหั่นแว่น  5 แว่น  พริกไทยเม็ด 2 ช้อนชา กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนชา ตำส่วนผสมทุกอย่างให้ละเอียด ส่วนผสมแกง หอยขมสับก้นหอยแล้ว          500 กรัม ใบชะพลูซอย                         2     ถ้วย กะทิ                                        4     ถ้วย เกลือ                                        1     ช้อนโต๊ะ น้ำตาล                                     1     ช้อนโต๊ะ   วิธีทำ นำกะทิขึ้นตั้งไฟ พอเดือดใส่พริกแกง หอยขม คนให้เข้ากัน รอจนหอยสุก ใส่ใบชะพลู ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาล ยกลง    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

กุ้งหวาน

ความเป็นมา ด้วยรสชาติของอาหารใต้ที่มีลักษณะเด่นคือ เผ็ดร้อน การได้กินอาหารที่มีรสหวานจึงช่วยแก้เผ็ดได้ กุ้งหวานจึงมักจัดมาในสำรับพร้อมกับผักสดเพื่อให้กินคู่กัน จะเรียกว่าเป็นการช่วยเสริมรสชาติให้กินได้อร่อยครบรสก็ได้   คุณค่าทางโภชนาการ กุ้งเป็นอาหารทะเลที่มีโปรตีน อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง สดชื่น กระปรี้กระเปร่า กุ้งหวานนี้ใช้กุ้งตัวเล็กโดยไม่ต้องแกะเปลือกจึงช่วยเพิ่มแคลเซียมด้วย   ส่วนผสม กุ้งแชบ๊วยตัวเล็ก            300 กรัม น้ำตาลปี๊บ                    2     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย                 1     ช้อนโต๊ะ เกลือ                           ¼    ช้อนชา   วิธีทำ ล้างกุ้ง ตัดส่วนหัวและขลิบกรีออก ใส่ส่วนผสมทั้งหมดลงในกระทะ ผัดให้เข้ากันจนน้ำตาล ละลาย ใช้ไฟอ่อนเคี่ยวจนกุ้งมีสีแดง เนื้อใส


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

กระดูกหมูอ่อนต้มใบชะมวง

ความเป็นมา ชะมวง หรือ ส้มมวง คำว่า ส้ม มักหมายความว่าต้องมีรสเปรี้ยว คนใต้นำผลและใบแก่ของชะมวงมาหมักทำให้เป็นกรดสำหรับฟอกหนังวัวหนังควายเพื่อแกะเป็นตัวหนังตะลุง รสเปรี้ยวนี้ยังนำมาทำอาหารได้อร่อยทั้งแกงส้ม ต้มส้ม และแกงน้ำใสอย่างกระดูกหมูอ่อนต้มใบชะมวง   คุณค่าทางโภชนาการ ใบชะมวงมีสีเขียวและรสเปรี้ยว สีเขียวเป็นบ่อเกิดของเบต้าแคโรทีน วิตามินบี1 แร่ธาตุอีกมากมาย รวมทั้งแคลเซียม เหล็ก และฟอสฟอรัส รสเปรี้ยวมีวิตามินซีซึ่งจะทำให้ดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น จะส่งผลให้มีเม็ดเลือดแดงมากพอในการลำเลียงออกซิเจนไปให้เซลล์เล็กๆ ในร่างกาย ช่วยให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงไม่แตกง่าย และยังช่วยให้เหงือกแข็งแรง ไม่เป็นโรคเลือดออกตามไรฟันอีกด้วย   ส่วนผสม กระดูกหมูอ่อน 500 กรัม ใบชะมวงฉีกเอาก้านใบออก  80 กรัม (อัดแน่น) หอมแดงบุบ  40 กรัม กระเทียมบุบ  10 กรัม น้ำสะอาด  5 ถ้วย เกลือ  1 ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ต้มกระดูกหมูอ่อนในน้ำสะอาด ใส่เกลือ กระเทียม และหอมแดงจนสุก และกระดูกหมูอ่อนนุ่ม จากนั้นจึงใส่ใบชะมวง ต้มจนใบชะมวงสุก ตักเสิร์ฟ


เพิ่มเติม

อาหารภาคกลาง

หมี่กรอบ

ความเป็นมา หมี่กรอบเป็นอาหารที่มีความเป็นจีนและไทยผสมผสานกัน เพราะเส้นหมี่หรือก๋วยเตี๋ยว และเทคนิควิธีการทอดโดยใช้น้ำมันร้อนท่วมมีต้นกำเนิดมาจากจีน แต่เมื่อทอดแล้วนำมาปรุงรสอย่างไทยให้มีรสเปรี้ยวหวานจากน้ำส้มมะขาม น้ำตาลปี๊บ ทั้งส่วนผสม เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว รวมทั้งถั่วงอกและใบกุยช่ายก็เป็นผักของจีน แต่ต้องมีรสซ่าหอมจากผิวส้มซ่าซึ่งใช้โรยหน้าหมี่กรอบ และเป็นส่วนผสมหรือเอกลักษณ์สำคัญที่จะขาดไม่ได้   คุณค่าทางโภชนาการ เส้นหมี่ทำจากแป้งข้าวเจ้าที่ให้คาร์โบไฮเดรตพอสมควร มีโปรตีนที่ได้จากหมูและกุ้ง และโปรตีนจากถั่ว เช่น เต้าหู้ ไขมันจากน้ำมันที่ใช้ทอดหมี่และผัด และได้กากใยอาหาร วิตามินซี จากผักสดที่มากินคู่กันอย่าง หัวปลีสด ใบบัวบก และธาตุเหล็กจากใบกุยช่ายสด   ส่วนผสม เส้นหมี่อบแห้ง                            100 กรัม หมู กุ้ง หั่นชิ้นเล็กรวมกัน              80   กรัม หอมแดงสับ                               2     ช้อนโต๊ะ กระทียมสับ                                1     ช้อนโต๊ะ เต้าหู้แข็งหั่นฝอย                        50   กรัม ไข่ไก่                                        2     ฟอง น้ำส้มสายชู                               1     ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                                     1     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปี๊บ                                 1     ช้อนโต๊ะ เต้าเจี้ยวดำบด                            1     ช้อนโต๊ะ น้ำมันสำหรับผัดเครื่องและทอดหมี่ กระเทียมดองซอยบาง ผิวส้มซ่าหั่นฝอย พริกชี้ฟ้าแดงหั่นฝอย ผักชี สำหรับโรยหน้า ผักแนม ถั่วงอก ใบกุยช่าย วิธีทำ นำเส้นหมี่อบแห้งลงทอดในน้ำมันร้อนจัดให้ฟูตักขึ้นพักไว้ ทอดเต้าหู้ และทำไข่ฝอยพักไว้ จากนั้นจึงทำน้ำปรุงรส โดยผัดหอมแดง และกระเทียมสับให้หอม ใส่หมูและกุ้ง ผัดให้สุก ปรุงรสและเคี่ยวจนเริ่มงวดเล็กน้อย จากนั้นนำเต้าหู้ทอดลงไปผัดรวมกัน ใส่หมี่ทอดกรอบคลุกให้เข้ากันจนทั่ว ตักขึ้นพักให้เย็น โรยหน้าด้วยเครื่องแต่งหน้า ผัก และไข่หั่นฝอย


เพิ่มเติม

อาหารภาคกลาง

พะแนงเนื้อ

ความเป็นมา พะแนงเป็นแกงกะทิน้ำขลุกขลิกที่ต้องมีรสหวานนำ ตามด้วยรสเค็ม และมักจะไม่เผ็ดมาก หอมกลิ่นใบมะกรูด แม้ว่าน้ำพริกแกงจะคล้ายกับน้ำพริกแกงเผ็ดแต่น้ำแกงจะข้นกว่า เพราะใส่ถั่วลิสงเพิ่ม มีส่วนคล้ายกับแกงเนื้อของอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียง คือ “เรนดัง” แต่หั่นเนื้อชิ้นใหญ่ สันนิษฐานว่า แกงพะแนงได้รับอิทธิพลมาจากจากชวาครั้งสมเด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวา ต้นห้องได้นำมาดัดแปลงและหั่นเนื้อให้เป็นชิ้นเล็กพอดีคำ   คุณค่าทางโภชนาการ จานนี้ให้โปรตีนและไขมันสูงมากทั้งจากเนื้อวัวและกะทิ  และมีสมุนไพรสดจากเครื่องพริกแกงที่มีสรรพคุณช่วยย่อย แก้ท้องอืด หอมแดง กระเทียมในน้ำพริกแกงช่วยลดคอเลสเตอรอล และพะแนงยังเป็นกับข้าวรสจัดจึงมักกินกับข้าว ทำให้ปริมาณเหมาะสมไปโดยปริยาย   ส่วนผสม กะทิ                                         2     ถ้วย เนื้อหั่นบาง                                300 กรัม น้ำพริกแกงแดง                          ½    ถ้วย ถั่วลิสงคั่ว                                  2     ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                                     2     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปี๊บ                                 1     ช้อนโต๊ะ ใบมะกรูด                                  5     กรัม วิธีทำ ปั่นน้ำพริกแกงแดงกับถั่วลิสงคั่วให้ละเอียด จากนั้นนำไปผัดกับกะทิให้มีกลิ่นหอม ใส่เนื้อลงไปผัดให้พอสุก เติมกะทิที่เหลือ ปรุงรสด้วยน้ำปลา และน้ำตาลปี๊บ ใส่ใบมะกรูดฉีก คนให้เข้ากันและน้ำแกงงวดลงเล็กน้อยตักเสิร์ฟ โรยใบมะกรูดซอยตกแต่ง และราดกะทิข้นเล็กน้อยให้สวยงาม


เพิ่มเติม

อาหารภาคกลาง

ผัดไทย

ความเป็นมา อาหารที่เล่ากันว่าคนไทยคิดขึ้นมาเพื่อแข่งกับผัดซีอิ๊วของจีน และเป็นอาชีพที่อยากให้คนไทยรู้จักค้าขายในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม จึงมีลักษณะจีนปนไทยเพราะเส้นก๋วยเตี๋ยวและเทคนิคการผัดเส้นไฟแรงหอมกระทะเป็นเทคนิคการทำอาหารของจีน แต่มีการปรุงรสให้เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวานอย่างไทย ผัดไทยจึงกลายเป็นอาหารจานโปรดของทั้งคนจีนและไทย จนปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในอาหารที่รู้จักกันไปทั่วโลก   คุณค่าทางโภชนาการ ไขมันและไข่รวมทั้งกุ้งสดที่ใส่ในผัดไทยเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงสำหรับคนที่ต้องการพลังงานมาก โดยทั่วไปผัดไทย 1 จาน ให้พลังงาน 216.16 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 22.39 กรัม ไขมัน 10.84 กรัม โปรตีน 7.26 กรัม และแคลเซียม 67.98 มิลลิกรัม   ส่วนผสม ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กแช่น้ำจนนุ่ม พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ    100 กรัม น้ำมัน                                       6     ช้อนโต๊ะ กุ้งแกะเปลือก ผ่าหลัง                  100 กรัม กระเทียมสับ                               1     ช้อนชา หอมแดงสับ                               1     ช้อนโต๊ะ เต้าหู้แข็งหั่นชิ้นเล็ก                    2     ช้อนโต๊ะ กุ้งแห้งตัวเล็ก                             2     ช้อนโต๊ะ ไข่เป็ด                                      1     ฟอง น้ำปลา                                     2     ช้อนโต๊ะ น้ำตาล                                     2     ช้อนโต๊ะ น้ำมะขามเปียก                           2     ช้อนโต๊ะ ถั่วลิสงคั่วบุบหยาบ พริกป่น สำหรับโรยหน้า ผักแนม ถั่วงอก ใบกุยช่าย หัวปลี ใบบัวบก วิธีทำ ผสมน้ำตาล น้ำปลา และน้ำมะขามเปียกให้เข้ากัน พักไว้ จากนั้นผัดหอมแดง กระเทียม ให้หอม ใส่เต้าหู้ กุ้งสด ผัดให้พอสุก ใส่เส้นเล็กลงไปผัด ยีให้เส้นไม่เกาะกันเป็นก้อน เมื่อเส้นเริ่มสุกจึงใส่น้ำปรุงรสที่เตรียมไว้ผัดให้เข้ากันพักเส้นไว้ข้างกระทะ ตอกไข่ไก่ใส่ลงในกระทะตีให้พอแตก นำเส้นลงไปผัดกับไข่ ใส่กุ้งแห้งผัดเร็วๆ ตักขึ้นเสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียง


เพิ่มเติม

อาหารภาคกลาง

ปลาสำลีทอดกับยำมะม่วง

ความเป็นมา ปลาทอดเป็นอาหารที่กินกันทั่วไป ปลาสำลีเป็นปลาเนื้อขาว นุ่มละเอียด จึงดูดซึมน้ำจิ้มหรือน้ำยำได้ดี และความอร่อยของปลาทอด  นอกจากต้องสดเนื้อจึงจะหวานแล้ว การนำยำมะม่วงที่มีรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด หวาน มากินร่วมกันหรือเป็นน้ำจิ้มนั้นทำให้กินอร่อยมากยิ่งขึ้น   คุณค่าทางโภชนากร ปลาเป็นอาหารทะเลที่ให้โปรตีนสูง ไขมันต่ำ และยังมีโอเมก้า 3 ไขมันดีที่ช่วยบำรุงสมอง และไม่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน นักโภชนาการแนะนำว่าเราควรกินปลาทะเลอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 มื้อ จานนี้จึงอุดมด้วยโปรตีนเมื่อกินกับยำมะม่วงที่มีรสเปรี้ยวตามธรรมชาติกับส่วนผสมอย่างหอมแดง พริก น้ำมะนาว ช่วยเสริมวิตามินซีเพิ่มขึ้นอีก   ส่วนผสม ปลาสำลี น้ำหนัก 300-400 กรัม    1     ตัว มะม่วงเปรี้ยวสับและฝานเป็นเส้นยาว     80    กรัม หอมแดงซอย                             ¼    ถ้วย กุ้งแห้งตำ                                    2     ช้อนโต๊ะ พริกขี้หนูซอย                            10   กรัม ถั่วลิสงคั่ว หรือถั่วหิมพานต์คั่วสำหรับโรยหน้า ผักชีสำหรับโรยหน้า   ส่วนผสมน้ำยำ น้ำปลา น้ำตาล น้ำมะนาว อย่างละ 2 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน ชิมรส วิธีทำ                                              ทอดปลาในน้ำมันร้อนท่วม ยำมะม่วงโดยจัดมะม่วงใส่ชาม โรยหอมแดง กุ้งแห้ง ราดน้ำยำ ถั่ว ผักชี กินคู่กับปลาทอด  


เพิ่มเติม

อาหารภาคกลาง

น้ำพริกมะม่วง

ความเป็นมา ในฤดูร้อนมะนาวที่คนไทยใช้ตำน้ำพริกจะออกลูกยากและมีราคาแพง จึงใช้ผลไม้รสเปรี้ยวอื่นๆ เช่น มะม่วง มาทำเป็นน้ำพริกแทน น้ำพริกมะม่วงเป็นอาหารพื้นบ้านที่กินกันทั่วไปเพราะมะม่วงในเมืองไทยหาได้ง่าย วิธีการตำและส่วนผสมก็คล้ายกับน้ำพริกทั่วไปของไทยคือ ใส่กะปิ กุ้งแห้ง กระเทียม พริก   คุณค่าทางโภชนาการ  มะม่วงดิบมีวิตามินซี ใยอาหาร และเบต้าแคโรทีนสูง ซึ่งเป็นสารต้านออกซิเดชันที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยังป้องกันอันตรายจากอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งบางชนิดได้ น้ำพริกมะม่วงมีโปรตีนจากกะปิและกุ้งแห้ง ไม่มีไขมัน และรสเปรี้ยวในมะม่วงยังช่วยให้ร่างกายสดชื่นเหมาะกับฤดูร้อนที่อากาศร้อนอบอ้าว   ส่วนผสม มะม่วงเปรี้ยวสับฝอย                     80   กรัม กุ้งแห้งป่น                                    1     ช้อนโต๊ะ กระเทียมกลีบเล็ก                        10   กรัม พริกขี้หนู                                      5     กรัม พริกชี้ฟ้าหั่นเป็นข้อสั้น                15   กรัม กะปิย่างไฟให้หอม                       1     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปี๊บ                                    1     ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                                         1     ช้อนชา น้ำส้มคั้น                                      1     ช้อนโต๊ะ เครื่องเคียง เช่น ปลาสลิดทอดฟู ผักสด เช่น ถั่วพู มะเขือเปราะ ขมิ้นขาว แตงกวา เป็นต้น วิธีทำ ตำกะปิกับกระเทียมให้ละเอียด จากนั้นใส่กุ้งแห้ง และพริกชี้ฟ้าลงไปตำ ใส่พริกขี้หนูตำพอแหลก ใส่มะม่วงใช้สากบุบให้พอช้ำ ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำส้มคั้น และน้ำปลา ตักขึ้นเสิร์ฟคู่เครื่องเคียงต่างๆ


เพิ่มเติม

อาหารภาคกลาง

น้ำพริกกะปิ

ความเป็นมา น้ำพริกคู่ครัวไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตและกินกันทุกครัวเรือน กะปิเรียกได้ว่าเป็นอาหารร่วมของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กินกันทุกประเทศในรูปแบบต่างๆ กัน คำว่า”กะปิ” นี้ว่ากันว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “งาปิ” ซึ่งเป็นภาษามอญ น้ำพริกกะปิของไทยต้องมีรสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน และไม่ควรข้นเกินไปเพราะต้องกินกับข้าวและเครื่องเคียงอย่าง ปลาทู ผักสด และผักทอดต่างๆ   คุณค่าทางโภชนาการ กะปิทำจากเคยหมักจึงให้แคลเซียมสูงมาก กะปิ 100 กรัม ให้แคลเซียมสูงถึง 1,554 มิลลิกรัม ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการแคลเซียมในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ในน้ำพริกยังมีกระเทียมที่ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด พริกกระตุ้นความอยากอาหาร และมะอึกที่มีรสเปรี้ยวทำให้น้ำพริกมีรสกลมกล่อม อร่อย ทำให้กินผักเครื่องเคียงต่างๆ ที่มีวิตามิน และกากใยได้อีกมากมาย   ส่วนผสม กะปิอย่างดี เผาไฟ                      2     ช้อนโต๊ะ กระเทียม                                   10   กรัม กุ้งแห้งตำละเอียด                       2     ช้อนโต๊ะ พริกขี้หนูเขียว แดง รวมกัน          10   กรัม มะอึก ขูดขนออกหั่นบาง              60   กรัม น้ำตาลปี๊บ                                 1     ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                                     2     ช้อนชา น้ำมะนาว                                  2     ช้อนโต๊ะ มะเขือพวงบุบ                            10   กรัม เครื่องเคียง ปลาทูทอด ผักลวก เช่น หน่อไม้ ผักบุ้ง ผักทอด เช่น มะเขือยาวชุบไข่ทอด ไข่ชะอมทอด วิธีทำ ตำกระเทียม และกะปิให้เข้ากันดี ทำให้กลิ่นของกะปิและกระเทียมไม่แรงจนเกินไป จากนั้นใส่กุ้งแห้ง พริกขี้หนู ตำให้พริกพอแหลก ใส่มะอึก ตำเล็กน้อย ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา คนให้เข้ากัน จากนั้นตักออกจากครกจึงใส่น้ำมะนาว ชิมรสอีกครั้ง จึงใส่มะเขือพวงบุบ


เพิ่มเติม

อาหารภาคกลาง

ต้มส้มปลากระบอก

ความเป็นมา ต้มส้มเป็นแกงน้ำใสที่มีรสเปรี้ยวจากน้ำมะขามเปียก ซึ่งจะให้รสเปรี้ยวอมหวานกลมกล่อม กลิ่นหอม และเสริมรสด้วยน้ำตาลปี๊บ ซึ่งว่ากันว่ารสเปรี้ยวๆ หวานๆ นี้เป็นรสชาติที่คนภาคกลางนิยม ไม่จัดจ้านแต่ให้ความสดชื่น เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย   คุณค่าทางโภชนาการ แกงน้ำใสที่ไม่มีไขมันแต่ได้โปรตีนจากเนื้อปลา รสเปรี้ยวหวานสดชื่นจากน้ำมะขามเปียกที่มีวิตามินซี มีฤทธิ์เป็นยาระบาย และลดความร้อนในร่างกาย พริกไทยช่วยขับเหงื่อ หายใจได้โล่งโปร่งสบาย หอมแดงมีรสหวาน ช่วยแก้หวัดคัดจมูก หายใจสะดวกขึ้น   ส่วนผสมเครื่องต้มส้ม พริกไทยเม็ด                              1     ช้อนโต๊ะ หอมแดงหั่น                               ¼    ถ้วย รากผักชี                                      20   กรัม กะปิ                                                ½    ช้อนชา ส่วนผสมต้มส้ม ปลากระบอก                              300 กรัม ขิงซอย                                        50   กรัม ต้นหอมหั่นเป็นท่อน และผักชี น้ำมะขามเปียก                           ½    ถ้วย น้ำปลา                                         2     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปี๊บ                                   2     ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ตำเครื่องต้มส้มให้ละเอียด นำลงไปละลายกับน้ำซุปแล้วตั้งไฟจนเดือด ใส่ปลาลงต้มให้สุก จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ และน้ำมะขามเปียก ใส่ขิงซอย ตั้งให้เดือดอีกครั้ง ชิมรส ก่อนเสิร์ฟใส่ต้นหอมท่อน และตกแต่งด้วยผักชี


เพิ่มเติม

อาหารภาคกลาง

ต้มยำกุ้ง

ความเป็นมา แกงน้ำใสที่ได้กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพรไทย เป็นเมนูง่ายๆ ที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด ส่วนผสมมีเพียงกุ้ง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก และน้ำมะนาว ก็สามารถปรุงได้รสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด ได้อย่างกลมกล่อม ผู้ใหญ่บางท่านบอกว่าในอดีต สีแดงในต้มยำกุ้งเป็นมันกุ้งของกุ้งแม่น้ำที่ใช้มาทำต้มยำ ต่อมาเมื่อกุ้งหายาก พ่อครัวคนจีนจึงใส่น้ำพริกเผาให้มีมันลอยหน้าคล้ายมันกุ้ง อย่างไรก็ตามต้มยำกุ้งได้กลายเป็นอาหารไทยที่รู้จักกันไปทั่วโลก   คุณค่าทางโภชนาการ ต้มยำกุ้งเป็นอาหารจานชุมนุมสมุนไพรที่ทำให้รู้สึกสดชื่น กระชุ่มกระชวย  สมองปลอดโปร่ง เพราะข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ล้วนมีน้ำมันหอมระเหยที่อบอวลอยู่ในจานอาหาร และมีสรรพคุณช่วยขับลม ให้ความสดชื่น  ผสานไปกับรสหวานของเนื้อกุ้งและเห็ด  กุ้งเป็นอาหารทะเลที่มีโปรตีนสูงแต่ไขมันต่ำ มีวิตามินบี 12 ที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และป้องกันโรคโลหิตจาง   ส่วนผสม กุ้งแม่น้ำหรือกุ้งสดแกะเปลือก ผ่าหลัง   200  กรัม เห็ดฟาง                                    1     ถ้วย ข่าบุบหรือหั่นแว่น                      20   กรัม ตะไคร้บุบ                                  80   กรัม ใบมะกรูด                                  5     กรัม พริกขี้หนู                                  5     กรัม น้ำปลา น้ำมะนาว ผักชีสำหรับโรยหน้า วิธีทำ ตั้งน้ำสะอาด หรือน้ำซุป ใส่ข่า ตะไคร้ ลงไปต้มให้เดือด และมีกลิ่นหอม จากนั้นใส่เห็ดฟาง และกุ้ง ปรุงรสด้วยน้ำปลา ใส่พริกขี้หนู จากนั้นยกลงจากเตาเติมน้ำมะนาว ชิมรสตักเสิร์ฟ


เพิ่มเติม

close[x]
Questionnaire