SLider section

อาหาร 4 ภาค

อาหารภาคใต้

ยำไตปลา

    ความเป็นมา ยำไตปลาเป็นการนำไตปลาซึ่งเป็นของหมักดองมาปรุงอาหารให้อร่อยอีกเมนูหนึ่งซึ่งโดยทั่วไปคนนิยมนำไปทำแกงไตปลา แต่ยำจานนี้เป็นยำไตปลาที่ใส่กะทิให้มีรสมัน มีกลิ่นหอมจากสมุนไพรสดต่างๆ ที่ซอยใส่รวมไปกับเนื้อปลา และมีรสชาติเผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน อร่อยอย่างยำทั่วไป   คุณค่าทางโภชนาการ ไตปลาเป็นของหมักดองจากพุงปลา กระเพาะปลาที่มีโปรตีนสูง ในขณะเดียวกันก็ได้โปรตีนจากเนื้อปลาย่างที่ใส่รวมไปด้วย ไขมันจากกะทิ และกลิ่นรสสดชื่นที่ทำให้หายใจได้โล่งโปร่งสบายจากสมุนไพรสด เช่น พริก หอม ข่า ตะไคร้ เป็นต้น   ส่วนผสม ไตปลา                                        200    กรัม ข่า ตะไคร้ ขมิ้น บุบ  ใบมะกรูด 4-5 ใบ สำหรับต้มไตปลา หัวกะทิ                                           1        ถ้วย ตะไคร้ซอยบาง                              ½       ถ้วย หอมแดงซอยบาง                           ½       ถ้วย ข่าซอยเป็นเส้น                                1        ช้อนโต๊ะ กระชายซอยเป็นเส้น                        ¼       ถ้วย พริกขี้หนูซอย                                    5        กรัม ใบมะกรูดซอย                                    5        ใบ น้ำมะนาว                                              2        ช้อนโต๊ะ น้ำตาลมะพร้าว                                     2        ช้อนโต๊ะ เนื้อปลาทูย่างหรือเนื้อปลาโอย่าง        80      กรัม วิธีทำ ต้มไตปลากับข่า ตะไคร้ ขมิ้น ใบมะกรูด ต้มจนเดือด กรองไตปลา พักไว้แบ่งไตปลาที่ต้มไว้ประมาณ  3-4 ช้อนโต๊ะมาต้มกับกะทิ พอเดือดใส่เนื้อปลา ยกลงปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำตาล ใส่สมุนไพร และเนื้อปลาที่เตรียมไว้ทั้งหมด คลุกให้เข้ากัน ชิมรส กินกับผักสดต่างๆ      


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

มะม่วงเบาแช่อิ่ม

  ความเป็นมา มะม่วงเบาเป็นมะม่วงพันธุ์พื้นเมืองของทางใต้ ผลมีขนาดเล็กเท่ากับไข่ไก่ใบเล็ก เมื่อดิบรสจะเปรี้ยวจี๊ด เนื้อกรอบ ไม่มีกลิ่นฉุน คนใต้นิยมนำไปทำอาหารให้รสเปรี้ยวหลากหลาย เช่น นำไปตำน้ำพริกเป็นน้ำพริกมะม่วงเบา แต่ที่นิยมมากที่สุดคือนำไปแช่อิ่ม   คุณค่าทางโภชนาการ มะม่วงเบามีรสเปรี้ยวเป็นแหล่งของวิตามินซีที่ช่วยป้องกันโรคหวัดได้อย่างดี ช่วยสร้างสารคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำให้เส้นผม ฟัน เหงือก และกระดูกสมบูรณ์แข็งแรง เมนูนี้นำมาแช่อิ่ม โดยใส่ในน้ำเชื่อมเพื่อให้ซึมเข้าเนื้อ มะม่วงจึงมีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ กินแล้วช่วยให้สดชื่นมาก แต่ถ้ากินมากไปจะได้รับน้ำตาลเกินความจำเป็นที่จะทำให้ให้อ้วนได้   ส่วนผสม มะม่วงเบา                         50      ผล น้ำปูนใส                            1        ถ้วย เกลือ                                ½       ถ้วย น้ำตาลทราย                       1        กก. น้ำสะอาด                          3        ถ้วย วิธีทำ ปอกเปลือกมะม่วง ผ่าลูกละ 2-4 ชิ้น แช่ในน้ำสะอาดให้มะม่วงจม ใส่น้ำปูนใส ใส่เกลือ แช่ทิ้งไว้ 2 คืน คนให้ทั่ววันละ 2-3 ครั้งตักมะม่วงขึ้นพักไว้ ใส่ภาชนะที่มีฝาปิดทำน้ำเชื่อมโดยผสมน้ำตาลกับน้ำใส่เกลือ ตั้งไฟจนข้น พักไว้ให้เย็น เทใส่ในมะม่วงปิดฝาพักไว้ 2 คืน นำมาคนวันละ 2 ครั้ง ชิมดูจะมีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน นำเข้าตู้เย็น มะม่วงจะ กรอบอร่อยขึ้น    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ฟักทองผัดไข่พริกไทยดำ

    ความเป็นมา คนใต้เรียกฟักทองว่า “น้ำเต้า” เป็นผักพันธุ์ไม้เลื้อยที่ขึ้นง่าย ชาวบ้านมักจะปลูกไว้หลังบ้าน ทำอาหารกินได้ทั้งคาวและหวาน หรือผัดกับน้ำมันง่ายๆ ให้ได้รสหวานตามธรรมชาติโดยไม่ต้องปรุงแต่งมาก แต่คนใต้ชอบรสเผ็ดร้อน จึงใส่พริกไทยดำมากกว่าทางภาคกลาง   คุณค่าทางอาหาร สีเหลืองของฟักทองมีเบต้าแคโรทีนอยู่เต็มเปี่ยมซึ่งสามารถช่วยป้องกันมะเร็งได้  และยังอุดมไปด้วยวิตามินเอที่ช่วยให้ดวงตาแข็งแรง ในตำราโบราณบอกไว้ว่าถ้ากินพร้อมเปลือกจะมีฤทธิ์ทางยา สามารถกระตุ้นการหลั่งของอินซูลินที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันเบาหวาน และโรคความดันโลหิตได้   ส่วนผสม ฟักทองหั่นชิ้นเล็ก                 300    กรัม หอมแดงซอย                         10      กรัม กระเทียม                                  5        กรัม พริกไทยดำ                              1        ช้อนชา ไข่                                            1        ฟอง น้ำปลา                                      2        ช้อนโต๊ะ น้ำตาล                                        2        ช้อนโต๊ะ น้ำสะอาด   วิธีทำ โขลกหอม กระเทียม พริกไทย รวมกัน ตั้งกระทะใส่น้ำมันพอร้อนใส่ส่วนผสมที่ตำไว้ลงผัดพอหอม ใส่ฟักทอง ผัดสักครู่ ค่อยๆ เติมน้ำทีละน้อยจนฟักทองสุก ใส่ไข่ ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ผัดให้เข้ากันตักเสิร์ฟ    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ผัดหมี่ไชยา

            ความเป็นมา ผัดหมี่ไชยา แต่เดิมเรียกว่า ผัดหมี่ เป็นอาหารพื้นเมืองของอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีมากว่า 100 ปี  เมื่อผัดเสร็จจะดูคล้ายผัดไทยแต่ผัดหมี่ไชยาจะต้องนำพริกแห้งมาตำกับกะปิและหอมแดงก่อน และจะต้องใส่กะทิให้มีรสมันตามที่คนใต้ชอบ ปรุงรสหวาน เค็ม เปรี้ยว   คุณค่าทางโภชนาการ ผัดหมี่ไชยาเป็นอาหารจานเดียวที่ได้คาร์โบไฮเดรทจากก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ตามหลักโภชนาการแนะนำว่าต้องกินคาร์โบไฮเดรทประมาณ 40 % เพราะจะให้พลังงานและทำให้แข็งแรง จานนี้มีโปรตีนจากกุ้งสด และไขมันจากกะทิ วิตามินและเกลือแร่จากผักสดที่กินไปด้วยกัน   ส่วนผสม เส้นเล็กหรือเส้นจันท์แช่น้ำจนนุ่ม        200    กรัม กุ้งสด                                                      120    กรัม พริกแห้งเม็ดใหญ่                                   4-5     เม็ด (กรีดเม็ดออกแช่น้ำจนนุ่ม) หอมแดง                                                  30      กรัม กะปิ                                                          ½       ช้อนชา กะทิ                                                          1/3     ถ้วย น้ำปลา                                                      1        ช้อนโต๊ะ น้ำตาลมะพร้าว                                         1        ช้อนโต๊ะ น้ำมะขามเปียก                                         1        ช้อนโต๊ะ   วิธีทำ รวนกุ้งสดตักขึ้นพักไว้ จากนั้นตำพริก หอมแดง กะปิ รวมกัน นำไปผัดกับกะทิ ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ใส่เส้นลงผัดให้ทั่วเข้ากัน ใส่กุ้ง ผัดจนแห้งหรือแฉะตามชอบ กินกับหัวปลี ต้นกุยช่าย ถั่วงอก    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ผัดเผ็ดหมูป่าพริกไทยอ่อน

    ความเป็นมา หมูป่าจะมีเนื้อและหนังที่เหนียวกว่าหมูเลี้ยงทั่วไป ทำให้เคี้ยวได้อร่อย และมักจะมีในต่างจังหวัดที่ยังมีพื้นที่และสามารถเลี้ยงหมูได้ตามธรรมชาติ การนำมาผัดพริกแกงจะทำให้ดับกลิ่นสาบของเนื้อและยังมีรสชาติเข้มข้นอร่อยตามตำรับใต้ที่ชอบกินอาหารรสเผ็ด   คุณค่าทางโภชนาการ หมูป่ามีสารอาหารเหมือนเนื้อหมูทั่วไป เนื้อหมู 100 กรัมมีโปรตีน 33.5 กรัม และให้พลังงาน 171 กิโลแคลอรี น้ำพริกแกงใต้มีสมุนไพรที่ทำให้ช่วยย่อย เช่นเดียวกับพริกไทยอ่อนที่นอกจากรสเผ็ดหอมสดชื่นแล้ว ยังช่วยให้เลือดลมหมุนเวียนได้ดีด้วย   ส่วนผสม เนื้อหมูป่า                          300    กรัม น้ำพริกแกงเผ็ดใต้                ½       ถ้วย เม็ดพริกไทยอ่อน                 100    กรัม กระเทียมบุบ                          10      กรัม พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ                3        เม็ด น้ำปลา                             2        ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย                       2        ช้อนชา   วิธีทำ หั่นเนื้อหมูเป็นชิ้นพอคำ ผัดน้ำพริกแกงกับน้ำมันพอหอม ใส่เนื้อหมูลงผัดให้ทั่ว เติมน้ำเล็กน้อย ผัดพอหมูสุก ใส่พริกไทยอ่อน พริกชี้ฟ้า ผัดเร็วๆ ตักขึ้นรับประทานร้อนๆ    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ปลาโอต้มหวาน

    ความเป็นมา อาหารรสหวานในสำรับอาหารใต้ มักเป็นการช่วยแก้รสเผ็ดซึ่งเป็นรสชาติประจำของอาหารใต้ จึงนำปลาโอที่มีอยู่ชุกชุมมาต้มใส่น้ำตาลและซีอิ๊วให้มีรสหวานนำ เค็มตาม ใช้รับประทานคู่กับอาหารใต้รสจัดได้หลายเมนู   คุณค่าทางโภชนาการ ปลาโอจัดเป็นปลาทูน่าสายพันธุ์หนึ่ง เนื้อสีชมพูแดงเข้ม นิยมนำมาทำปลาทูน่ากระป๋อง เนื้อค่อนข้างแข็ง เมื่อนำมาต้มหวานยิ่งต้มเนื้อจะยิ่งแข็งขึ้น ปลาโอเป็นปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงในระดับต้นๆ ของปลาทะเล และมีไขมันไม่อิ่มตัวสูง จึงช่วยเรื่องหลอดเลือดทั้งหลอดเลือดสมองและหัวใจไม่ให้อุดตัน   ส่วนผสม ปลาโอหั่นชิ้น                      300    กรัม กระเทียมบุบ                      10      กรัม หอมแดง                            20      กรัม ตะไคร้บุบ                           30      กรัม น้ำสะอาด                           2        ถ้วย น้ำตาลมะพร้าว                   3        ช้อนโต๊ะ ซีอิ๊วดำ                               2        ช้อนชา เกลือ                                   1        ช้อนชา   วิธีทำ ตั้งหม้อใส่น้ำพอเดือดใส่หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ต้มจนเดือดใส่เนื้อปลา รอจนเดือดอีกครั้งปรุงรสด้วยน้ำตาลมะพร้าว ซีอิ๊วดำ เกลือ ลดไฟอ่อน ต้มไปเรื่อยๆ จนเนื้อปลาแข็ง ตักขึ้นเสิร์ฟ    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ปลาหมึกย่างขมิ้น

    ความเป็นมา ปลาหมึกและขมิ้นเป็นของที่มีมากทางใต้และนิยมนำมาทำอาหารในรูปแบบต่างๆ ปลาหมึกย่างเป็นของปิ้งย่างที่กินกันทั่วไปรสชาติตามความชอบของแต่ละภาค ทางใต้นำมาหมักขมิ้นให้มีสีเหลืองสวยและหอมกลิ่นกระเทียม   คุณค่าทางโภชนาการ ปลาหมึกเป็นซีฟู้ดที่มีคอเลสเตอรอลสูง แต่ก็มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงเช่นกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายมีคอเลสเตอรอลสูงมากเกินไป และยังมีวิตามินบี 12 ซึ่งจำเป็นและช่วยบำรุงรักษาระบบประสาทให้แข็งแรงและช่วยการสร้างเม็ดเลือดแดง ส่วนขมิ้นแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยฆ่าเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหารได้   ส่วนผสม ปลาหมึกไข่             500    กรัม ขมิ้นหั่น                    4        ช้อนโต๊ะ กระเทียมหั่น             4        ช้อนโต๊ะ พริกไทยเม็ด             1        ช้อนโต๊ะ เกลือ                        2        ช้อนชา วิธีทำ ล้างปลาหมึกให้สะอาด ซับน้ำให้แห้ง ตำขมิ้น กระเทียม พริกไทยเม็ด เกลือ รวมกัน นำไป หมักปลาหมึกไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง ย่างจนสุก กินกับน้ำจิ้มตามชอบ    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ปลาทูสอดไส้

    ความเป็นมา   ปลาทูเป็นปลาที่มีมากทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน คนใต้แทนที่จะนำมาทอดทั้งตัว แต่นำมาสร้างสรรค์โดยผสมมะพร้าวขูดกับเนื้อหมูและสมุนไพร ใส่ไส้แล้วนำไปทอด ทำให้กิน อร่อยได้อย่างไม่เบื่อ   คุณค่าทางโภชนาการ เมนูนี้ได้โปรตีนจากทั้งเนื้อปลาและเนื้อหมูที่ผสมรวมกับมะพร้าวขูดและสมุนไพร มะพร้าวแม้จะมีไขมันอิ่มตัวสูงแต่ก็ย่อยง่าย และยังมีสมุนไพรต่างๆ มาช่วยย่อยอีก จึงทำให้กินอิ่มได้อย่างสบายใจไม่ต้องกลัวแน่นท้อง   ส่วนผสม ปลาทู                               6        ตัว มะพร้าวขูดขาว                300    กรัม หมูบด                               200    กรัม กระเทียมหั่น                      ½       ถ้วย ขมิ้นหั่น                              3        ช้อนโต๊ะ พริกไทยเม็ด                       1        ช้อนโต๊ะ ใบมะกรูดซอย                     4        ใบ น้ำปลา                                2        ช้อนโต๊ะ วิธีทำ กรีดข้างลำตัวปลา แล่ก้างปลาออก  โขลกพริกไทย เกลือ กระเทียม ขมิ้น รวมกันให้ละเอียด แบ่งมาครึ่งหนึ่งผสมกับมะพร้าวและหมูบด ใส่น้ำปลา ใบมะกรูด คลุกให้เข้ากัน นำไปใส่ตัวปลาจนเต็ม เครื่องส่วนที่เหลือนำไปเคล้ากับตัวปลาให้ทั่ว และทอดในน้ำมันร้อนจนสุก    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

น้ำพริกโจร

ความเป็นมา คนใต้เล่ากันว่าน้ำพริกโจรนี้ได้ชื่อตามวิธีการทำ เพราะเป็นการทำน้ำพริกที่ง่ายมากโดยไม่ต้องตำ เพียงนำส่วนผสมมาคลุกรวมกันเท่านั้น รวดเร็วเหมือนถูกโจรปล้น จึงตั้งชื่อว่าน้ำพริกโจร   คุณค่าทางโภชนาการ น้ำพริกนี้มีส่วนผสมของกุ้งต้มที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก กุ้งเป็นอาหารทะเลที่เนื้อหวานอร่อยมี โปรตีนสูง ไขมันต่ำ และยังมีวิตามินบี 12  และไอโอดีนสูงมาก ส่วนผสมของสมุนไพร เช่น หอม กระเทียม พริกขี้หนู ทำให้รู้สึกสดชื่น ส่วนรสชาติเผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน ทำให้กินผักสดได้มากอันเป็นแหล่งของวิตามินและกากใย   ส่วนผสม เนื้อกุ้งต้มสุกหั่นชิ้นเล็ก           200    กรัม หอมแดงซอย                      30      กรัม กระเทียมซอย                     10      กรัม พริกขี้หนูซอย                      5        กรัม กะปิ                                 2        ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                             2        ช้อนโต๊ะ น้ำมะนาว                          2        ช้อนโต๊ะ น้ำตาลมะพร้าว                 2        ช้อนโต๊ะ วิธีทำ เคล้ากระเทียม หอมแดง กะปิ พอเข้ากัน ใส่กุ้ง ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลมะพร้าว และคลุกทั้งหมดให้เข้ากันเบาๆ ชิมรส    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ทอดมันปักษ์ใต้

    ความเป็นมา คนใต้ชอบนำมะพร้าวมาทำทั้งอาหารคาวและหวาน นอกจากคั้นกะทิทำแกงแล้ว ยังนำมะพร้าวขูดมาใส่ในอาหารให้มีรสนุ่มและเนื้อหวานเหมือนกับทอดมันเมนูนี้ ที่ผสมไปกับเนื้อหมูและสมุนไพรต่างๆ จนเป็นทอดมันปักษ์ใต้ที่มีลักษณะเฉพาะ   คุณค่าทางโภชนาการ เนื้อมะพร้าวมีใยอาหารสูงมาก เนื้อมะพร้าว 100 กรัมให้พลังงานประมาณ 312 กิโลแคลอรี โดยร้อยละ 90 ของพลังงานมาจากไขมันอิ่มตัวสูง แต่ก็ยังย่อยง่ายและมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการย่อยอาหาร ซึ่งร่างกายดูดซึมไขมันชนิดอื่นๆ ได้ยาก เมนูนี้เมื่อรวมกับเนื้อหมูและสมุนไพรต่างๆ จึงเป็นเมนูที่ย่อยไม่ยาก   ส่วนผสม มะพร้าวขูดขาว                             500    กรัม หมูบด                               300    กรัม พริกขี้หนูแห้ง                      30      เม็ด หอมแดงหั่น                        ½       ถ้วย กระเทียมหั่น                      3        ช้อนโต๊ะ ข่าหั่น                               1        ช้อนโต๊ะ ขมิ้นหั่น                               3        ช้อนโต๊ะ ตะไคร้ซอย                         ½       ถ้วย ใบมะกรูดซอย                     5        ใบ พริกไทยเม็ด                        2        ช้อนชา กะปิ                                       2        ช้อนโต๊ะ แป้งข้าวเจ้า                            1        ถ้วย น้ำตาลทราย                           1        ช้อนโต๊ะ เกลือ                                        1        ช้อนชา วิธีทำ ตำพริกขี้หนู เกลือ พริกไทย ให้ละเอียด ใส่ตะไคร้ ขมิ้น หอมแดง กระเทียม ข่า กะปิ ตำรวมกันให้ละเอียด นำไปคลุกกับมะพร้าวและหมูสับ ใส่แป้งคลุกให้เข้ากัน ใส่ใบมะกรูดซอย ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ปั้นเป็นชิ้นกลม ทอดในน้ำมันร้อนท่วมจนสุก    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ตูโบ้

    ความเป็นมา ตูโบ้ คือ แกงบวดรวมมิตรที่นำมันเทศ เผือก ถั่วแดง และแผ่นแป้งมันสำปะหลังมาต้มกับกะทิใส่น้ำตาลทราย ขนมหวานท้องถิ่นของคนภูเก็ต คำว่า ตู หมายถึง หมู  คำว่าโบ้ หมายถึงแม่ เมื่อรวมกันแล้ว “ตูโบ้” หมายถึง แม่หมู ซึ่งน่าจะเป็นเพราะของหวานนี้นำส่วนผสมหลายอย่างมาต้มรวมกันเหมือนต้มให้แม่หมูกิน   คุณค่าทางโภชนาการ มันเทศ เผือก เป็นพืชหัวที่มีคาร์โบไฮเดรทสูง ถั่วแดงมีโปรตีน เมื่อนำมาต้มกะทิที่มีไขมันอิ่มตัวสูง และใส่น้ำตาลให้มีรสหวาน ของหวานถ้วยนี้จึงมีพลังงานค่อนข้างสูง จึงควรกินแต่พอเหมาะเพราะถ้ากินมากเกินไปจะให้พลังงานเกินความจำเป็นและทำให้อ้วนได้   ส่วนผสม มันเทศหั่นชิ้นเล็ก                          1/2     ถ้วย เผือกหั่นชิ้นเล็ก                             1/2     ถ้วย ถั่วแดงเม็ดเล็กต้มสุก                     ½       ถ้วย จูฮุ่น (แผ่นแป้งมันสำปะหลัง)         ½       ถ้วย กะทิ                                                 3        ถ้วย น้ำตาลทราย                                    1        ถ้วย เกลือ                                                1        ช้อนชา   วิธีทำ นึ่งมันเทศ เผือก ให้สุก ตั้งกะทิพอเดือด ใส่มันเทศ เผือก ถั่วแดง แผ่นแป้งมันสำปะหลัง ต้มพอเดือด ใส่น้ำตาล เกลือ ต้มให้น้ำตาลละลาย ชิมรส ตักใส่ถ้วยพร้อมรับประทาน  


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ต้มกะทิหน่อไม้กุ้งสด

ความเป็นมา คนใต้ชอบกินแกงกะทิแต่ไม่นิยมเป็นแกงเผ็ดเสมอไป แกงนี้จึงเป็นแกงกะทิรสหวานตามธรรมชาติ ที่ช่วยให้หวานขึ้นจากหน่อไม้ที่มีมากในฤดูฝน ใส่เนื้อสัตว์อย่างกุ้งสดที่ช่วยให้กะทิหอมหวานยิ่งขึ้น และใส่สะตอเนื้อนุ่มกรุบรสมัน เพิ่มความอร่อยได้อีกหลายเท่าตัว   คุณค่าทางโภชนาการ หน่อไม้เป็นต้นอ่อนของไผ่ที่มาพร้อมกับฤดูฝน พอฝนโปรยก็จะแทงหน่อข้างๆ ต้นไผ่ เนื้อจะชุ่มน้ำ รสหวาน มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสพอสมควร มีกากใยสูงที่ช่วยในการขับถ่าย แกงนี้เป็นแกงกะทิรสหวานตามธรรมชาติที่ใส่สะตอเม็ดเขียวที่ให้ทั้งพลังงานและโปรตีน สะตอ 100 กรัมมีโปรตีนถึง 8 กรัม และเมื่อใส่กุ้งสดซึ่งเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แกงนี้จึงมีโปรตีนทั้งจากพืชและสัตว์ครบถ้วน   ส่วนผสม กุ้งสด                                       200    กรัม หน่อไม้สดหั่นเป็นชิ้นบาง        200    กรัม สะตอ                                        80      กรัม กะทิ                                           2        ถ้วย กระเทียมบุบ                             10      กรัม เกลือ น้ำตาล อย่างละเล็กน้อย   วิธีทำ ลวกหน่อไม้เตรียมไว้ นำกะทิขึ้นตั้งไฟใส่กระเทียม เมื่อกะทิเดือดใส่หน่อไม้ลงไป ใส่สะตอ รอให้เดือดอีกครั้งใส่กุ้ง ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาล    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

จำปาดะทอด

ความเป็นมา จำปาดะเป็นผลไม้ท้องถิ่นของทางใต้ ซึ่งเป็นสกุลเดียวกับขนุนแต่ลูกจะเล็กกว่า กลิ่นแรงกว่า เมื่อสุกเนื้อจะนิ่ม กลิ่นหอม และรสหวานจัด จำปาดะเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของอำเภอเกาะยอ จังหวัดสตูล คนใต้นิยมนำมาชุบแป้งทอด ผิวนอกจะกรอบ เนื้อในนุ่มหวาน จัดเป็นของหวานรสอร่อยที่นิยมกันซึ่งหากินได้เฉพาะทางใต้เท่านั้น   คุณค่าทางโภชนาการ จำปาดะเป็นผลไม้ที่เนื้อมีรสหวานกินแล้วรู้สึกสดชื่น มีวิตามินเอที่บำรุงสายตา เส้นใยของเนื้อจำปาดะจะช่วยขับไขมันออกจากร่างกายได้ จำปาดะชุบแป้งที่ใส่มะพร้าวขูดรวมไปด้วย เมื่อทอดแล้วจะได้ไขมันมากทั้งจากมะพร้าวและน้ำมันที่ใช้ทอด จึงควรกินพอประมาณเพราะอาจทำให้เจ็บคอและร้อนในได้   ส่วนผสม จำปาดะ                            400    กรัม แป้งข้าวเจ้า                        300    กรัม น้ำตาลทราย                        1        ถ้วย มะพร้าวขูด                          2        ถ้วย น้ำสะอาด                            1 ½    ถ้วย น้ำปูนใส                              2        ช้อนโต๊ะ ไข่ไก่                                   2        ฟอง งาขาวหรืองาดำ                   3        ช้อนโต๊ะ เกลือ                                     1        ช้อนโต๊ะ น้ำมันสำหรับทอด วิธีทำ ผสมแป้งข้าวเจ้ากับน้ำสะอาดพอเหนียว ใส่ไข่ไก่ น้ำตาลทราย มะพร้าวขูด เกลือ  งา น้ำปูนใส ผสมให้เข้ากัน นำจำปาดะลงชุบแป้ง แล้วทอดในน้ำมันร้อนท่วม จนสุกเหลือง ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน รับประทานร้อนๆ    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

ไก่ย่างฆอและ

  ความเป็นมา ไก่ย่างฆอและเป็นอาหารที่คนมุสลิมทางใต้นิยมกินกันโดยเฉพาะที่ปัตตานีจะมีชื่อเสียงมาก และยังกินกันทั่วไปที่ประเทศมาเลเซีย ภาษามลายูจะเรียกว่า “อาแยฆอและ” แปลว่าไก่กลิ้ง ซึ่งน่าจะหมายถึงการย่างที่ต้องพลิกไปพลิกมา บางร้านจะขายคู่กับข้าวหลาม   คุณค่าทางโภชนาการ ไก่เป็นเนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีนสูงแต่มีไขมันต่ำ แม้ว่าเมนูนี้จะมีไขมันจากกะทิที่หมักและราดขณะย่างเพื่อให้เนื้อนุ่มแต่ก็ไม่มากเกินไป การหมักไก่ด้วยสมุนไพรต่างๆ ที่ช่วยดับกลิ่นคาว ทำให้มีกลิ่นหอมน่ากินแล้ว สมุนไพรและเครื่องเทศเหล่านี้ยังมีคุณสมบัติที่ช่วยขับลม แก้ท้องอืดด้วย   ส่วนผสม เนื้อสะโพกไก่                      1        กิโลกรัม กะทิ                                     1        ถ้วย พริกชี้ฟ้าแห้ง                      5        เม็ด (กรีดเม็ดออกแช่น้ำไว้สักครู่) หอมแดง                             30      กรัม กระเทียม                            20      กรัม ขมิ้นหั่น                                2        ช้อนชา ลูกผักชีป่น                           1        ช้อนชา ยี่หร่าป่น                              ½       ช้อนชา กะปิ                                       1        ช้อนชา ขิงหั่นแว่น                             10      กรัม น้ำมะขามเปียก                      2        ช้อนโต๊ะ วิธีทำ โขลกส่วนผสมทั้งหมดให้ละเอียด นำไปผสมกับกะทิ น้ำมะขาม แล้วหมักไก่ไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง นำไปย่างจนสุก ขณะย่างทาน้ำหมักไปด้วยเพื่อไม่ให้เนื้อไก่แห้ง    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

แกงพริกหอยแครงใบยี่หร่า

ความเป็นมา           คำว่า “แครง” หรือ “คราง” มาจากภาษาชวา – มลายู ที่ใช้เรียกหอยประเภทหอยแครงว่า “เคอรัง” หรือ “ครัง” จนในที่สุดเพี้ยนมาเป็น แครง หอยแครงมีมากตามชายฝั่งตื้นๆ ที่เป็นโคลน     หรือโคลนเหลวพบมากที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัตตานี ซึ่งชาวบ้านหาได้ไม่ยาก นำมาทำอาหารได้หลายชนิดทั้งลวกและแกง   คุณค่าทางโภชนาการ หอยแครงเป็นหอยที่มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และฟอสฟอรัสสูง มีคุณสมบัติช่วยบำรุงเลือด บำรุงไขข้อ นำมาแกงกับน้ำพริกแกงใต้ที่มีรสเผ็ดร้อนช่วยให้ร่างกายสูบฉีดเลือดได้ดี และยังใส่ใบยี่หร่าที่มีรสร้อนแรง ช่วยบำรุงธาตุ ขับลม อีกด้วย   ส่วนผสม เนื้อหอยแครง            150    กรัม น้ำพริกแกงใต้            ¼       ถ้วย กะปิ                             2        ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                        2        ช้อนโต๊ะ ใบยี่หร่า                      50      กรัม น้ำ                                2        ถ้วย วิธีทำ ผสมน้ำพริกแกงกับกะปิให้เข้ากัน ตั้งน้ำพอเดือดใส่พริกแกง พอเดือดใส่หอยแครง ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำต้องขลุกขลิก ก่อนยกขึ้นใส่ใบยี่หร่า    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

แกงเผ็ดเห็ดแครง

ความเป็นมา แกงเผ็ดเป็นแกงที่ชาวบ้านทำกินกันทั่วไป และส่วนผสมก็มีได้หลากหลาย ส่วนใหญ่จะมีทั้งผักใบและผักหัวกับเนื้อสัตว์ เช่นไก่ กุ้ง แกงเผ็ดเห็ดแครงก็เป็นอีกเมนูที่นำเห็ดท้องถิ่นอย่างเห็ดแครงที่จะมีมากในฤดูฝน และขึ้นตามขอนต้นยางพาราที่ตัดทิ้งไว้มาแกงกับกะทิและใส่กุ้ง   คุณค่าทางโภชนาการ เห็ดแครงเป็นเห็ดพื้นบ้านที่หาได้เฉพาะทางใต้เท่านั้น ดอกเล็กรูปร่างคล้ายพัด ไม่มีก้านดอก คล้ายเปลือกหอยแครง สามารถเก็บไว้ได้หลายวัน ก่อนนำมาทำอาหารต้องแช่น้ำให้นิ่มและบานก่อน เนื้อจะกรอบอร่อย นิยมนำมาแกงใส่กะทิ เห็ดแครงมีคาร์โบไฮเดรทและโปรตีนสูง ยังมีคุณสมบัติเป็นยาที่ช่วยต่อต้านเชื้อไวรัสได้   ส่วนผสม เห็ดแครง                           150    กรัม กุ้ง                                      150    กรัม หัวกะทิ                               1        ถ้วย น้ำพริกแกงเผ็ด                  2        ช้อนโต๊ะ กะปิ                                     1        ช้อนโต๊ะ เกลือเล็กน้อย วิธีทำ ผัดพริกแกงกับกะทิพอหอม ใส่กะปิ กุ้ง พอเดือดใส่เห็ดแครง ผัดประมาณ 10 นาที จนเห็ดแครงสุก    


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

แกงเผ็ดหมูต้นข่าอ่อน

ความเป็นมา คนท้องถิ่นมักจะปลูกพืชผักสวนครัวไว้หลังบ้านเพื่อนำมาทำอาหารได้ง่าย พืชที่ปลูกมักจะกินบ่อยๆ เช่น พริก ข่า ตะไคร้ และใบมะกรูด ข่ามักจะใช้เหง้าแก่มาดับกลิ่นคาวโดยเฉพาะปลา ต้นข่าอ่อนจะมีลำต้นยาวและเหง้าอ่อน ที่นิยมนำมาทำอาหารทั้งแกงส้มและแกงเผ็ด   คุณค่าทางโภชนาการ ข่าอ่อนมีรสเผ็ดไม่มาก และมีสรรพคุณเป็นยาที่ใช้ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ และยังมีกากใยที่ช่วยขับถ่ายได้ดี เหง้าอ่อน 100 กรัมให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี มีฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม วิตามินซี 23 มิลลิกรัม เมื่อนำมาแกงกะทิกับหมูและใส่น้ำพริกแกงจึงให้ทั้งโปรตีนและไขมัน   ส่วนผสม เนื้อหมูหั่น                             300    กรัม ต้นข่าอ่อนหั่นเป็นชิ้น             100    กรัม น้ำพริกแกง                             ¼       ถ้วย หัวกะทิ                                    1        ถ้วย หางกะทิ                                   2        ถ้วย น้ำปลา                                      2        ช้อนโต๊ะ น้ำตาลมะพร้าว                         2        ช้อนชา   ส่วนผสมน้ำพริกแกง พริกขี้หนู 20-30 เม็ด พริกไทยเม็ด 1 ช้อนชา กระเทียมหั่น 2 ช้อนโต๊ะ หอมแดงหั่น 2 ช้อนโต๊ะ ตะไคร้ซอย  3 ช้อนโต๊ะ ข่าหั่น 2 ช้อนชา ขมิ้นหั่น 1 ช้อนโต๊ะ กะปิ  2 ช้อนโต๊ะเกลือ 1 ช้อนชา ตำส่วนผสมพริกแกงรวมกันจนละเอียด   วิธีทำ ผัดพริกแกงกับหัวกะทิจนแตกมัน ใส่เนื้อหมูลงผัดพอสุก ใส่ต้นข่าอ่อน หางกะทิ ต้มไฟอ่อนจนเนื้อข่าอ่อนสุก ปรุงรส ยกลง กินกับผักสดต่างๆ


เพิ่มเติม

อาหารภาคใต้

แกงคั่วผักกูดกับกุ้ง

ความเป็นมา แกงคั่วใช้น้ำพริกแกงเผ็ดที่ไม่ใส่เครื่องเทศอย่างลูกผักชี ยี่หร่า เป็นแกงพื้นบ้านที่ใช้น้ำพริก แกงแดงทั่วไป แต่แกงคั่วทางใต้ไม่นิยมรสหวานหรือ 3 รสเหมือนทางภาคกลาง จึงได้รสหวานอร่อยตามธรรมชาติจากกะทิและกุ้งที่ทำกินกันง่ายๆ ทั่วไป   คุณค่าทางโภชนาการ ผักกูดจัดเป็นเฟิร์นที่กินได้ ขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ดีและไม่มีสารเคมี จึงจัดเป็นผักปลอดสารพิษตามธรรมชาติที่มีเบต้าแคโรทีนสูง เมื่อนำไปแกงกับกะทิที่มีไขมันจึงช่วยดึงวิตามินเอได้อย่างดี ช่วยแก้ดวงตาฝ้าฟางและทำให้แข็งแรง   ส่วนผสม กุ้งสดปอกเปลือก                  200    กรัม ผักกูดเด็ดเป็นชิ้นยาว             150    กรัม กะทิ                                         2        ถ้วย น้ำพริกแกงคั่ว                         3        ช้อนโต๊ะ เกลือเล็กน้อย   วิธีทำ ตั้งกะทิพอเดือดใส่น้ำพริกแกงคนให้ละลาย รอกะทิแตกมันเล็กน้อยใส่กุ้ง พอเดือดใส่ผักกูดลงไป ปรุงรสด้วยเกลือ ต้มจนผักสุกตักเสิร์ฟร้อนๆ    


เพิ่มเติม

close[x]
Questionnaire