SLider section

แกงคั่วกระดูกหมูอ่อน

ภาค ใต้

  • recipe image cover

แกงคั่วกระดูกหมูอ่อน

ความเป็นมา

          กระดูกหมูอ่อนเป็นเนื้อส่วนซี่โครงที่ติดกระดูกอ่อน เวลาเคี้ยวจะกรุบกรับ นุ่ม ยิ่งเคี้ยวยิ่งอร่อย ซึ่งคนนิยมนำมาทำอาหารทั้งทอด ต้ม แกง เมนูนี้นำมาแกงใส่น้ำพริกแกงใต้ที่มีรสเผ็ดร้อน เข้มข้น เป็นจานอร่อยอย่างอาหารใต้อีกจาน

 

คุณค่าทางโภชนาการ

          กระดูกหมูให้โปรตีนเหมือนกับเนื้อหมู แต่มีไขมันมากกว่าส่วนเนื้อเพราะมีไขมันแทรกอยู่ เนื้อจึงนุ่ม น้ำพริกแกงใต้มีส่วนผสมของขมิ้นที่ช่วยรักษาโรคท้องอืดและช่วยย่อยอาหาร สมุนไพร เช่น พริก ใบมะกรูดที่มีน้ำมันหอมระเหย ช่วยแก้วิงเวียนศีรษะได้อย่างดี

 

ส่วนผสม

กระดูกหมูอ่อนสับเป็นชิ้น                350    กรัม

น้ำพริกแกงใต้                                 ¼       ถ้วย

ใบมะกรูดหั่นฝอย                             5        ใบ

น้ำมันพืช                                           2        ช้อนโต๊ะ

น้ำปลา                                               3        ช้อนโต๊ะ

น้ำตาลทราย                                      1        ช้อนชา

น้ำ

 

วิธีทำ

ผัดน้ำพริกแกงกับน้ำมันพอหอม ใส่กระดูกหมูผัดรวมกับพริกแกงสักครู่ ค่อยๆ เติมน้ำ เคี่ยวด้วยไฟอ่อนจนกระดูกหมูนุ่มน้ำขลุกขลิก ปรุงรส ใส่ใบมะกรูดซอย รับประทานกับผักสด เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว

ภาค กลาง

หมูสะเต๊ะ

ความเป็นมา หมูสะเต๊ะ เป็นอาหารปิ้งย่างที่คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเนื้อสะเต๊ะ แต่ในประเทศไทยที่มีคนจีนมากและไม่นิยมกินเนื้อวัวจึงเปลี่ยนเป็นเนื้อหมู ส่วนผสมที่ใช้หมักเนื้อก็ยังมีลูกผักชี ยี่หร่า ขมิ้นหรือผงกะหรี่  และร้านขายหมูสะเต๊ะอร่อยๆ มักเป็นคนจีน หมูสะเต๊ะเป็นของว่างที่กินได้ตลอดวัน และนิยมสั่งกินก่อนอาหารมื้อหนัก   คุณค่าทางโภชนาการ เนื้อหมูมีวิตามินบี 12 และอุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุต่างๆ มีโปรตีนที่ช่วยให้เด็กเจริญเติบโตได้เต็มที่ และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เนื้อสะเต๊ะจะอร่อยเมื่อมีมันหมูติดไปด้วยเล็กน้อย เพราะจะทำให้เนื้อนุ่มและไม่กระด้าง แต่ควรระวังไม่กินมันหมูมากเกินไปเพราะร่างกายอาจจะรับไขมันเกินความจำเป็น   ส่วนผสม เนื้อหมูสันนอกหั่นเป็นชิ้นยาวกว้าง      1        กก. กะทิ                                          1        ถ้วย   เครื่องสำหรับหมักหมู ลูกผักชีป่น 1 ช้อนโต๊ะ ยี่หร่าป่น 1 ช้อนชา น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ ผงกะหรี่ 1 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนชา  น้ำมันพืช 3 ช้อนโต๊ะ   วิธีทำ หมักหมูและเสียบไม้พักไว้ในตู้เย็นอย่างน้อย 3 ชั่วโมง นำหมูสะเต๊ะย่างไฟ ขณะย่างพรมกะทิไปด้วยเพื่อไม่ให้แห้ง พอสุกใส่จาน เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มและอาจาด   ส่วนผสมน้ำจิ้มและวิธีทำ กะทิ 3 ถ้วย น้ำพริกแกง ½ ถ้วย ถั่วลิงสงโขลกละเอียด 1/3 ถ้วย น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปึก 2 ช้อนโต๊ะ น้ำส้มมะขาม 2 ช้อนโต๊ะ เคี่ยวกะทิให้พอแตกมัน ใส่น้ำพริกลงไปผัดจนหอม ใส่ถั่วลิสง น้ำปลา น้ำตาล น้ำส้มมะขาม เคี่ยวต่อจนข้น ชิมรส ส่วนผสมอาจาดและวิธีทำ น้ำส้มสายชู 1/3 ถ้วย น้ำตาลทราย ½ ถ้วย เกลือป่น 2 ช้อนชา แตงกวาผ่าสี่หั่น 2 ลูก หอมแดงซอย 3 ช้อนโต๊ะ พริกชี้ฟ้าหั่นขวาง ½ เม็ด ผสมน้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือ ตั้งไฟ พอทุกอย่างละลายยกลง พักไว้ให้เย็น จัดแตงกวา หอมแดง พริกชี้ฟ้าใส่ชาม ราดน้ำอาจาด


เพิ่มเติม

ภาค เหนือ

ลาบคั่ว

ความเป็นมา ลาบ เป็นอาหารที่นิยมทำเลี้ยงแขกในงานบุญ งานมงคล ที่เป็นโอกาสพิเศษของชาวล้านนา เนื่องจากคำว่า “ลาบ” ที่พ้องเสียงกับคำว่า “ลาภ” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายที่ดี เมนูลาบของทางภาคเหนือจะแตกต่างจากลาบของทางภาคอีสานคือใช้การผัดเนื้อสัตว์กับพริกแกง และไม่ใส่ข้าวคั่ว   คุณค่าทางโภชนาการ ลาบคั่วเป็นอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง  นอกจากนั้นเครื่องปรุงต่างๆ เช่น กระเทียม ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ผักชีฝรั่ง ยังให้วิตามิน เกลือแร่ เช่นธาตุเหล็ก และแคลเซียม ช่วยขับลม และย่อยอาหารได้ดี   ส่วนผสม เนื้อหมูสับ                                   300    กรัม ไส้ตัน                                           100    กรัม ตับหมู                                          100    กรัม หนังหมูต้มสุกหั่นชิ้นเล็ก             100    กรัม ต้นหอมหั่นหยาบ                         3        ช้อนโต๊ะ ผักชีหั่นหยาบ                              3        ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                                         3        ช้อนโต๊ะ กระเทียมสับ                                2        ช้อนโต๊ะ น้ำมันพืช                                     4        ช้อนโต๊ะ ผักชีฝรั่งซอย                              2        ช้อนโต๊ะ ผักไผ่หั่นหยาบ                          4        ช้อนโต๊ะ ใบมะกรูดซอย                            2        ช้อนโต๊ะ ส่วนผสมพริกแกง พริกแห้งเผา                       5        เม็ด กระเทียมเผา                      10      กรัม หอมแดงเผา                       30      กรัม ข่าหั่นละเอียดคั่ว                  1        ช้อนชา ตะไคร้หั่นละเอียด                1        ช้อนโต๊ะ เกลือป่น                               1        ช้อนชา ลูกผักชีคั่ว                            1        ช้อนชา วิธีทำ ตำหรือปั่นพริกแกงให้ละเอียดนำไปคลุกเคล้ากับเนื้อหมูสับ ไส้ตันหั่นชิ้น ตับหมูหั่นชิ้น และหนังหมูลวก จากนั้นนำกระเทียมสับลงไปเจียวกับน้ำมันให้มีกลิ่นหอม ใส่เนื้อสัตว์ลงไปผัดให้สุก ปรุงรสด้วยน้ำปลา ใส่ผักชีฝรั่ง ผักไผ่ และใบมะกรูด คลุกเคล้าให้ทั่ว ตักขึ้นโรยหน้าด้วยผักชีต้นหอม


เพิ่มเติม

ภาค ใต้

ใบเหลียงผัดไข่

ความเป็นมา ผักเหลียง ผักเหมียง หรือ ผักเขรียง เป็นชื่อเดียวกัน แต่เรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ว่ากันว่าอาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า เลียง เพราะสมัยก่อนส่วนใหญ่นำมาทำแกงเลียง ผักเหลียงถือเป็นราชินีผักพื้นบ้านของภาคใต้ คนใต้นิยมกินกันทั่วไป ไม่ว่าจะนำไปลวก หรือกินสดอยู่ในถาดผักเหนาะ ผัดน้ำมันกินกับน้ำพริก ใส่แกงเผ็ด แกงส้ม ผักรองห่อหมก และแกงจืดหมูสับ ใบเหลียงผัดไข่เป็นอาหารที่ไม่ได้นิยมกันแต่ในภาคใต้ ปัจจุบันเป็นอาหารใต้ที่นิยมแพร่หลายในกรุงเทพฯ   คุณค่าทางโภชนาการ ใบเหลียงคล้ายกับใบของยางพรารา มีสีเขียวเป็นมันยาวประมาณ 10-20 ซ.ม.เป็นพันธุ์ไม้ป่า พบได้ตามเนินเขาและที่ราบ จัดเป็นผักปลอดสารพิษเพราะไม่มีแมลงและโรครบกวน ใบเหลียงมีรสชาติหวานมันเป็นแหล่งของเบต้าแคโรทีนอย่างดี มีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตาและป้องกันตามืดมัวในยามดึก ใบเหลียง 100 กรัม ให้พลังงาน 91 กิโลแคลอรี  แคลเซียม 150.5 มิลลิกรัม   ส่วนผสม ใบเหลียง                      100 กรัม ไข่ไก่                             2     ฟอง กระเทียมสับ                  5     กรัม น้ำมันพืช                        2     ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                            1     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย                   1     ช้อนชา   วิธีทำ ผัดกระเทียมกับน้ำมันพืชให้มีกลิ่นหอม นำใบเหลียงลงไปผัดให้ผักเริ่มสลด จากนั้นเกลี่ยใบเหลียงไว้มุมหนึ่ง ตอกไข่ใส่ลงไปในกระทะ ยีให้ไข่แตกและเริ่มสุก จากนั้นนำใบเหลียงลงมาผัดคลุกกับไข่ ปรุงรสด้วยน้ำปลา และน้ำตาลทราย ตักขึ้นเสิร์ฟ    


เพิ่มเติม

close[x]
Questionnaire