SLider section

ก๋วยเตี๋ยวหมูเส้นเล็กต้มยำ

ภาค กลาง

  • recipe image cover

ก๋วยเตี๋ยวหมูเส้นเล็กต้มยำ

 

ความเป็นมา

ก๋วยเตี๋ยวต้มยำน้ำรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยว หวาน อันเป็นความโดดเด่นของต้มยำที่คนชอบมากมาปรุงในน้ำซุปโดยไม่มีกลิ่นสมุนไพร แต่ปรุงรสให้แซ่บด้วยพริกป่น น้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาล กลายเป็นน้ำซุปรสต้มยำซึ่งทำให้กินก๋วยเตี๋ยวได้อย่างออกรสออกชาติ

 

คุณค่าทางโภชนาการ

พลังงานของก๋วยเตี๋ยวต้มยำใกล้เคียงกับก๋วยเตี๋ยวน้ำหมูทั่วไปเพียงแต่มีรสเข้มข้นขึ้นด้วยทำให้ก๋วยเตี๋ยวจานนี้อิ่มอร่อย และสดชื่น เพราะรสเผ็ด เปรี้ยว ช่วยให้สมองรู้สึกปลอดโปร่ง ช่วยขับเหงื่อทำให้ตัวเบาไม่รู้สึกแน่นท้อง ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กต้มยำหมู 1 ชามให้พลังงาน 335 กิโลแคลอรี

 

ส่วนผสม

เส้นเล็ก                              300    กรัม

หมูสับ                               150    กรัม

หมูแดงหั่นบาง                    100    กรัม

กากหมูเจียว                        ½       ถ้วย

ถั่วงอก                                 100    กรัม

ต้นหอม ผักชีซอย สำหรับโรยหน้า

เครื่องต้มยำ พริกป่น น้ำตาล น้ำปลา น้ำส้มสายชู

ส่วนผสมน้ำซุป

กระดูกส่วนสะโพกหมู กระดูกไขสันหลังหมู ขิงหั่นแว่น ต้มรวมกันด้วยไฟอ่อน

วิธีทำ

ลวกเส้นก๋วยเตี๋ยวและถั่วงอก (ปริมาณสำหรับ 1 คน) ใส่ชาม  ตักน้ำซุปเดือดๆ ใส่ในหมูสับเล็กน้อย เทใส่ชามก๋วยเตี๋ยว วางหมูแดง 4-5 ชิ้น ใส่กากหมูเจียว พริกป่น น้ำตาล น้ำปลา น้ำส้มสายชูอย่างละประมาณ ½-1  ช้อนโต๊ะ ตักน้ำซุปเดือดๆ ใส่โรยหน้าด้วยต้นหอม ผักชี

 

 

 

ภาค กลาง

ต้มข่าไก่

ความเป็นมา ไก่ต้มข่าหรือต้มข่าไก่นั้นคล้ายกับต้มยำแต่มีกะทิเป็นส่วนผสม น้ำแกงจึงมีสีขาวนวล ได้ความหอม หวาน มัน จากกะทิ และกลิ่นของสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งรสเผ็ดจากพริกขี้หนู ปรุงให้ได้รสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม และต้องมีกลิ่นหอมเด่นของข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และน้ำมะนาวสด คุณค่าทางโภชนาการ แม้ไก่ต้มข่าจะใช้กะทิซึ่งมีไขมันอิ่มตัว แต่สมุนไพรที่ใส่ล้วนมีสรรพคุณที่มีประโยชน์ทั้งสิ้น เช่น ข่า มีวิตามินซีสูง ช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้ปวดมวนท้อง ตะไคร้ มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก ช่วยขับลม ใบมะกรูดให้กลิ่นสดชื่น บรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืดเป็นลม และยังมีรสเปรี้ยวจากน้ำมะนาวซึ่งให้วิตามินซีเป็นอย่างดี ส่วนผสม กะทิสด               2 ถ้วย เนื้อไก่หั่นชิ้น      150 กรัม เห็ดฟาง              ½ ถ้วย ข่าหั่นบาง            ¼ ถ้วย ตะไคร้บุบ             50 กรัม ใบมะกรูด              5 กรัม พริกขี้หนูบุบ ตามชอบ น้ำปลา น้ำมะนาว ผักชีสำหรับโรยหน้า วิธีทำ ตั้งน้ำกะทิ 1 ถ้วย ผสมน้ำสะอาดจะได้เป็นหางกะทิ นำขึ้นตั้งไฟ ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูดลงไปจนเดือดและมีกลิ่นหอม ใส่เนื้อไก่ ตามด้วยเห็ดฟาง ต้มจนไก่สุกดี ใส่น้ำกะทิที่เหลือ ปรุงรสด้วยน้ำปลา ใส่พริกขี้หนู จากนั้นดับไฟและใส่น้ำมะนาว คนให้เข้ากัน ชิมรสให้ได้เปรี้ยว เค็ม เผ็ด หวานตาม ตักเสิร์ฟ


เพิ่มเติม

ภาค ใต้

ใบเหลียงผัดไข่

ความเป็นมา ผักเหลียง ผักเหมียง หรือ ผักเขรียง เป็นชื่อเดียวกัน แต่เรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ว่ากันว่าอาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า เลียง เพราะสมัยก่อนส่วนใหญ่นำมาทำแกงเลียง ผักเหลียงถือเป็นราชินีผักพื้นบ้านของภาคใต้ คนใต้นิยมกินกันทั่วไป ไม่ว่าจะนำไปลวก หรือกินสดอยู่ในถาดผักเหนาะ ผัดน้ำมันกินกับน้ำพริก ใส่แกงเผ็ด แกงส้ม ผักรองห่อหมก และแกงจืดหมูสับ ใบเหลียงผัดไข่เป็นอาหารที่ไม่ได้นิยมกันแต่ในภาคใต้ ปัจจุบันเป็นอาหารใต้ที่นิยมแพร่หลายในกรุงเทพฯ   คุณค่าทางโภชนาการ ใบเหลียงคล้ายกับใบของยางพรารา มีสีเขียวเป็นมันยาวประมาณ 10-20 ซ.ม.เป็นพันธุ์ไม้ป่า พบได้ตามเนินเขาและที่ราบ จัดเป็นผักปลอดสารพิษเพราะไม่มีแมลงและโรครบกวน ใบเหลียงมีรสชาติหวานมันเป็นแหล่งของเบต้าแคโรทีนอย่างดี มีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตาและป้องกันตามืดมัวในยามดึก ใบเหลียง 100 กรัม ให้พลังงาน 91 กิโลแคลอรี  แคลเซียม 150.5 มิลลิกรัม   ส่วนผสม ใบเหลียง                      100 กรัม ไข่ไก่                             2     ฟอง กระเทียมสับ                  5     กรัม น้ำมันพืช                        2     ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                            1     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย                   1     ช้อนชา   วิธีทำ ผัดกระเทียมกับน้ำมันพืชให้มีกลิ่นหอม นำใบเหลียงลงไปผัดให้ผักเริ่มสลด จากนั้นเกลี่ยใบเหลียงไว้มุมหนึ่ง ตอกไข่ใส่ลงไปในกระทะ ยีให้ไข่แตกและเริ่มสุก จากนั้นนำใบเหลียงลงมาผัดคลุกกับไข่ ปรุงรสด้วยน้ำปลา และน้ำตาลทราย ตักขึ้นเสิร์ฟ    


เพิ่มเติม

ภาค เหนือ

ลาบคั่ว

ความเป็นมา ลาบ เป็นอาหารที่นิยมทำเลี้ยงแขกในงานบุญ งานมงคล ที่เป็นโอกาสพิเศษของชาวล้านนา เนื่องจากคำว่า “ลาบ” ที่พ้องเสียงกับคำว่า “ลาภ” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายที่ดี เมนูลาบของทางภาคเหนือจะแตกต่างจากลาบของทางภาคอีสานคือใช้การผัดเนื้อสัตว์กับพริกแกง และไม่ใส่ข้าวคั่ว   คุณค่าทางโภชนาการ ลาบคั่วเป็นอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง  นอกจากนั้นเครื่องปรุงต่างๆ เช่น กระเทียม ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ผักชีฝรั่ง ยังให้วิตามิน เกลือแร่ เช่นธาตุเหล็ก และแคลเซียม ช่วยขับลม และย่อยอาหารได้ดี   ส่วนผสม เนื้อหมูสับ                                   300    กรัม ไส้ตัน                                           100    กรัม ตับหมู                                          100    กรัม หนังหมูต้มสุกหั่นชิ้นเล็ก             100    กรัม ต้นหอมหั่นหยาบ                         3        ช้อนโต๊ะ ผักชีหั่นหยาบ                              3        ช้อนโต๊ะ น้ำปลา                                         3        ช้อนโต๊ะ กระเทียมสับ                                2        ช้อนโต๊ะ น้ำมันพืช                                     4        ช้อนโต๊ะ ผักชีฝรั่งซอย                              2        ช้อนโต๊ะ ผักไผ่หั่นหยาบ                          4        ช้อนโต๊ะ ใบมะกรูดซอย                            2        ช้อนโต๊ะ ส่วนผสมพริกแกง พริกแห้งเผา                       5        เม็ด กระเทียมเผา                      10      กรัม หอมแดงเผา                       30      กรัม ข่าหั่นละเอียดคั่ว                  1        ช้อนชา ตะไคร้หั่นละเอียด                1        ช้อนโต๊ะ เกลือป่น                               1        ช้อนชา ลูกผักชีคั่ว                            1        ช้อนชา วิธีทำ ตำหรือปั่นพริกแกงให้ละเอียดนำไปคลุกเคล้ากับเนื้อหมูสับ ไส้ตันหั่นชิ้น ตับหมูหั่นชิ้น และหนังหมูลวก จากนั้นนำกระเทียมสับลงไปเจียวกับน้ำมันให้มีกลิ่นหอม ใส่เนื้อสัตว์ลงไปผัดให้สุก ปรุงรสด้วยน้ำปลา ใส่ผักชีฝรั่ง ผักไผ่ และใบมะกรูด คลุกเคล้าให้ทั่ว ตักขึ้นโรยหน้าด้วยผักชีต้นหอม


เพิ่มเติม

close[x]
Questionnaire