SLider section

ยำไตปลา

ภาค ใต้

  • recipe image cover

ยำไตปลา

 

 

ความเป็นมา

ยำไตปลาเป็นการนำไตปลาซึ่งเป็นของหมักดองมาปรุงอาหารให้อร่อยอีกเมนูหนึ่งซึ่งโดยทั่วไปคนนิยมนำไปทำแกงไตปลา แต่ยำจานนี้เป็นยำไตปลาที่ใส่กะทิให้มีรสมัน มีกลิ่นหอมจากสมุนไพรสดต่างๆ ที่ซอยใส่รวมไปกับเนื้อปลา และมีรสชาติเผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน อร่อยอย่างยำทั่วไป

 

คุณค่าทางโภชนาการ

ไตปลาเป็นของหมักดองจากพุงปลา กระเพาะปลาที่มีโปรตีนสูง ในขณะเดียวกันก็ได้โปรตีนจากเนื้อปลาย่างที่ใส่รวมไปด้วย ไขมันจากกะทิ และกลิ่นรสสดชื่นที่ทำให้หายใจได้โล่งโปร่งสบายจากสมุนไพรสด เช่น พริก หอม ข่า ตะไคร้ เป็นต้น

 

ส่วนผสม

ไตปลา                                        200    กรัม

ข่า ตะไคร้ ขมิ้น บุบ  ใบมะกรูด 4-5 ใบ สำหรับต้มไตปลา

หัวกะทิ                                           1        ถ้วย

ตะไคร้ซอยบาง                              ½       ถ้วย

หอมแดงซอยบาง                           ½       ถ้วย

ข่าซอยเป็นเส้น                                1        ช้อนโต๊ะ

กระชายซอยเป็นเส้น                        ¼       ถ้วย

พริกขี้หนูซอย                                    5        กรัม

ใบมะกรูดซอย                                    5        ใบ

น้ำมะนาว                                              2        ช้อนโต๊ะ

น้ำตาลมะพร้าว                                     2        ช้อนโต๊ะ

เนื้อปลาทูย่างหรือเนื้อปลาโอย่าง        80      กรัม

วิธีทำ

ต้มไตปลากับข่า ตะไคร้ ขมิ้น ใบมะกรูด ต้มจนเดือด กรองไตปลา พักไว้แบ่งไตปลาที่ต้มไว้ประมาณ  3-4 ช้อนโต๊ะมาต้มกับกะทิ พอเดือดใส่เนื้อปลา ยกลงปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำตาล ใส่สมุนไพร และเนื้อปลาที่เตรียมไว้ทั้งหมด คลุกให้เข้ากัน ชิมรส กินกับผักสดต่างๆ

 

 

 

ภาค กลาง

แกงเขียวหวานเนื้อ

ความเป็นมา แกงกะทิที่ใช้พริกชี้ฟ้าเขียวแทนพริกแดงในส่วนผสมพริกแกงจึงทำให้มีสีเขียว และยังมีลูกผักชี ยี่หร่า ซึ่งเป็นเครื่องเทศของชาวอาหรับหรืออินเดีย รวมไปถึงการใช้เนื้อวัวที่คล้ายกับอาหารของชาวมุสลิม แสดงให้เห็นว่าแกงเขียวหวานเป็นแกงที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติ และคนไทยก็นำมาปรุงแต่งให้มีเอกลักษณ์จนเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ คุณค่าทางโภชนาการ แกงกะทิจานนี้ได้โปรตีนสูงจากเนื้อวัวที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ และแร่ธาตุที่มีประโยชน์โดยเฉพาะธาตุเหล็กและสังกะสีที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่วนกะทิที่เป็นไขมันอิ่มตัวก็สมดุลด้วยสมุนไพรที่มีอยู่ในเครื่องพริกแกง มะเขือพวงมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง ช่วยให้เหงือกและฟันแข็งแรง  มะเขือพวง 100 กรัม มีแคลเซียม 158 มิลลิกรัม และฟอสฟอรัส 110 มิลลิกรัม ส่วนผสม กะทิ                                         4     ถ้วย น้ำพริกแกงเขียวหวาน            ½    ถ้วย เนื้อหั่นบาง                              300 กรัม มะเขือเปราะ                            100 กรัม มะเขือพวง                               20   กรัม น้ำปลา                                     3     ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปี๊บ                                 1     ช้อนโต๊ะ ใบโหระพา                                50   กรัม พริกชี้ฟ้าเขียวหั่นแฉลบสำหรับโรยหน้า ส่วนผสมเครื่องพริกแกงเขียวหวาน พริกชี้ฟ้าเขียวกรีดเม็ดออก 11 เม็ด ตะไคร้ซอยบาง  ¼ ถ้วย หอมแดงซอย ¼ ถ้วย กระเทียม 2 ช้อนโต๊ะ ผิวมะกรูดหั่นฝอย 1 ช้อนชา รากผักชีหั่นฝอย 1 ช้อนชา พริกไทยเม็ด 1 ช้อนชา กะปิ 1 ช้อนชา ลูกผักชีคั่ว 4 ช้อนชา ยี่หร่าคั่ว 2 ช้อนชา ตำหรือปั่นทุกอย่างรวมกันจนละเอียด ถ้าต้องการให้มีสีเขียวเข้มสวยใส่ใบพริกลงไปตำด้วย วิธีทำ ผัดพริกแกงกับกะทิให้มีกลิ่นหอม อาจจะต้องผัดนานเล็กน้อยเพื่อทำให้เครื่องแกงสุก และไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว จากนั้นนำเนื้อลงไปผัดให้พอสุก ใส่กะทิและน้ำซุปเล็กน้อย ตั้งจนเดือดและมีกลิ่นหอม ใส่มะเขือเปราะ และมะเขือพวง ปรุงรสด้วยน้ำปลา และน้ำตาลปี๊บ เมื่อเดือดอีกครั้งให้ใส่ใบโหระพา ตักขึ้นเสิร์ฟร้อนๆ


เพิ่มเติม

ภาค ใต้

กระดูกหมูอ่อนต้มใบชะมวง

ความเป็นมา ชะมวง หรือ ส้มมวง คำว่า ส้ม มักหมายความว่าต้องมีรสเปรี้ยว คนใต้นำผลและใบแก่ของชะมวงมาหมักทำให้เป็นกรดสำหรับฟอกหนังวัวหนังควายเพื่อแกะเป็นตัวหนังตะลุง รสเปรี้ยวนี้ยังนำมาทำอาหารได้อร่อยทั้งแกงส้ม ต้มส้ม และแกงน้ำใสอย่างกระดูกหมูอ่อนต้มใบชะมวง   คุณค่าทางโภชนาการ ใบชะมวงมีสีเขียวและรสเปรี้ยว สีเขียวเป็นบ่อเกิดของเบต้าแคโรทีน วิตามินบี1 แร่ธาตุอีกมากมาย รวมทั้งแคลเซียม เหล็ก และฟอสฟอรัส รสเปรี้ยวมีวิตามินซีซึ่งจะทำให้ดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น จะส่งผลให้มีเม็ดเลือดแดงมากพอในการลำเลียงออกซิเจนไปให้เซลล์เล็กๆ ในร่างกาย ช่วยให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงไม่แตกง่าย และยังช่วยให้เหงือกแข็งแรง ไม่เป็นโรคเลือดออกตามไรฟันอีกด้วย   ส่วนผสม กระดูกหมูอ่อน 500 กรัม ใบชะมวงฉีกเอาก้านใบออก  80 กรัม (อัดแน่น) หอมแดงบุบ  40 กรัม กระเทียมบุบ  10 กรัม น้ำสะอาด  5 ถ้วย เกลือ  1 ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ต้มกระดูกหมูอ่อนในน้ำสะอาด ใส่เกลือ กระเทียม และหอมแดงจนสุก และกระดูกหมูอ่อนนุ่ม จากนั้นจึงใส่ใบชะมวง ต้มจนใบชะมวงสุก ตักเสิร์ฟ


เพิ่มเติม

ภาค กลาง

บะหมี่เกี๊ยวหมูแดง

  ความเป็นมา บะหมี่เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวของจีนที่ทำจากแป้งสาลีผสมไข่ เส้นจึงมีสีเหลือง นุ่ม ส่วนผสม เช่น เกี๊ยว หมูแดง ก็ล้วนเป็นอาหารของจีน บะหมี่มาพร้อมกับคนจีนที่อพยพเข้ามาในเมืองไทยและเปิดร้านขาย มีทั้งขายในร้านคูหาเดียวหรือในภัตตาคาร ความอร่อยของเส้นหมี่ต้องนุ่มเหนียวไม่กระด้างหรือแข็งแม้เก็บไว้นาน เกี๊ยวกุ้งเนื้อกุ้งต้องเด้งกรอบ แผ่นเกี๊ยวแป้งต้องบางนุ่ม หมูแดงต้องหอมควันไฟและเนื้อนุ่ม   คุณค่าทางโภชนาการ บะหมี่หมูแดงส่วนผสมแต่ละชนิดมีคุณค่าอาหารในตัวเอง เช่น เส้นบะหมี่มีคาร์โบไฮเดรทและวิตามินต่างๆ จากแป้งสาลีและไข่  เกี๊ยวกุ้งมีวิตามินบี 12  ไอโอดีน และซิลีเนียมสูง มีแคลเซียมพอสมควร หมูแดงมีโปรตีนและวิตามินชนิดต่างๆ ส่วนผักใบเขียวมีเบต้าแคโรทีน จานนี้แม้ส่วนผสมจะมีอย่างละเล็กละน้อย แต่บะหมี่เกี๊ยวหมูแดง 1 ชามให้พลังงาน 305 กิโลแคลอรี   ส่วนผสม บะหมี่                                  50      กรัม เกี๊ยวกุ้ง                                 4        ชิ้น หมูแดงหั่นบาง                     30      กรัม ผักกวางตุ้งลวก                    50      กรัม กระเทียมเจียว                       1        ช้อนโต๊ะ น้ำซุป วิธีทำ ลวกผักกวางตุ้งและเส้นบะหมี่ใส่ชามคลุกกับกระเทียมเจียวเล็กน้อยเพื่อไม่ให้เส้นติดกัน ลวกเกี๊ยวกุ้งใส่ วางหมูแดง ตักน้ำซุปราด กินร้อนๆ กับเครื่องปรุงตามชอบ    


เพิ่มเติม

close[x]
Questionnaire