SLider section

ไส้กรอกอีสาน

ภาค อีสาน

  • recipe image cover
  • recipe image cover

ไส้กรอกอีสาน

ความเป็นมา

ไส้กรอกอีสาน เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวอีสาน มีรสชาติที่กลมกล่อมจากส่วนผสมที่มีเอกลักษณ์ลงตัว เป็นภูมิปัญญาโบราณ ที่ใช้ในการถนอมอาหารจากเนื้อสัตว์ที่มีมานานและเป็นวิธีการหมักบ่มให้มีรสเปรี้ยวด้วยข้าวสุกที่เหลือจากการรับประทานในแต่ละวันอีกด้วย

 

คุณค่าทางโภชนาการ

ไส้กรอกมีเนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีน นอกจากนั้นยังมี ตะไคร้ ช่วยแก้และบรรเทาอาการหวัด อาการไอกระเทียมไทยช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย

 

ส่วนผสม

ไส้หมู                                 1        กิโลกรัม

หมูสับเนื้อส่วนสะโพก       1        กิโลกรัม

มันหมูสับ                          ½       กิโลกรัม

ตะไคร้บด                         2        ช้อนโต๊ะ

เกลือ                               2        ช้อนโต๊ะ

น้ำตาล                            1        ช้อนโต๊ะ

พริกไทยขาวบด              2        ช้อนโต๊ะ

พริกไทยดำบด                2        ช้อนโต๊ะ

ข้าวสวยสุก                      1        ถ้วย

 

วิธีทำ

ล้างไส้หมูให้สะอาด พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นผสมเนื้อหมู มันหมู ข้าวสวยสุก ตะไคร้เข้าด้วยกัน ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาลพริกไทยขาว พริกไทยดำ นำไปใส่ลงในไส้หมูที่เตรียมไว้ ใช้ด้าน หรือเชือกมัดให้เป็นข้อๆ หมักทิ้งไว้ในตู้เย็น 1 คืน จากนั้นนำมาผึ่งลมไว้อีก 2 – 3 วัน ก่อนจะนำมาปิ้งหรือทอดจนสุก กินคู่กับขิงดองและกะหล่ำปลีสด

ภาค ใต้

ยำไตปลา

    ความเป็นมา ยำไตปลาเป็นการนำไตปลาซึ่งเป็นของหมักดองมาปรุงอาหารให้อร่อยอีกเมนูหนึ่งซึ่งโดยทั่วไปคนนิยมนำไปทำแกงไตปลา แต่ยำจานนี้เป็นยำไตปลาที่ใส่กะทิให้มีรสมัน มีกลิ่นหอมจากสมุนไพรสดต่างๆ ที่ซอยใส่รวมไปกับเนื้อปลา และมีรสชาติเผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน อร่อยอย่างยำทั่วไป   คุณค่าทางโภชนาการ ไตปลาเป็นของหมักดองจากพุงปลา กระเพาะปลาที่มีโปรตีนสูง ในขณะเดียวกันก็ได้โปรตีนจากเนื้อปลาย่างที่ใส่รวมไปด้วย ไขมันจากกะทิ และกลิ่นรสสดชื่นที่ทำให้หายใจได้โล่งโปร่งสบายจากสมุนไพรสด เช่น พริก หอม ข่า ตะไคร้ เป็นต้น   ส่วนผสม ไตปลา                                        200    กรัม ข่า ตะไคร้ ขมิ้น บุบ  ใบมะกรูด 4-5 ใบ สำหรับต้มไตปลา หัวกะทิ                                           1        ถ้วย ตะไคร้ซอยบาง                              ½       ถ้วย หอมแดงซอยบาง                           ½       ถ้วย ข่าซอยเป็นเส้น                                1        ช้อนโต๊ะ กระชายซอยเป็นเส้น                        ¼       ถ้วย พริกขี้หนูซอย                                    5        กรัม ใบมะกรูดซอย                                    5        ใบ น้ำมะนาว                                              2        ช้อนโต๊ะ น้ำตาลมะพร้าว                                     2        ช้อนโต๊ะ เนื้อปลาทูย่างหรือเนื้อปลาโอย่าง        80      กรัม วิธีทำ ต้มไตปลากับข่า ตะไคร้ ขมิ้น ใบมะกรูด ต้มจนเดือด กรองไตปลา พักไว้แบ่งไตปลาที่ต้มไว้ประมาณ  3-4 ช้อนโต๊ะมาต้มกับกะทิ พอเดือดใส่เนื้อปลา ยกลงปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำตาล ใส่สมุนไพร และเนื้อปลาที่เตรียมไว้ทั้งหมด คลุกให้เข้ากัน ชิมรส กินกับผักสดต่างๆ      


เพิ่มเติม

ภาค ใต้

กระดูกหมูอ่อนต้มใบชะมวง

ความเป็นมา ชะมวง หรือ ส้มมวง คำว่า ส้ม มักหมายความว่าต้องมีรสเปรี้ยว คนใต้นำผลและใบแก่ของชะมวงมาหมักทำให้เป็นกรดสำหรับฟอกหนังวัวหนังควายเพื่อแกะเป็นตัวหนังตะลุง รสเปรี้ยวนี้ยังนำมาทำอาหารได้อร่อยทั้งแกงส้ม ต้มส้ม และแกงน้ำใสอย่างกระดูกหมูอ่อนต้มใบชะมวง   คุณค่าทางโภชนาการ ใบชะมวงมีสีเขียวและรสเปรี้ยว สีเขียวเป็นบ่อเกิดของเบต้าแคโรทีน วิตามินบี1 แร่ธาตุอีกมากมาย รวมทั้งแคลเซียม เหล็ก และฟอสฟอรัส รสเปรี้ยวมีวิตามินซีซึ่งจะทำให้ดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น จะส่งผลให้มีเม็ดเลือดแดงมากพอในการลำเลียงออกซิเจนไปให้เซลล์เล็กๆ ในร่างกาย ช่วยให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงไม่แตกง่าย และยังช่วยให้เหงือกแข็งแรง ไม่เป็นโรคเลือดออกตามไรฟันอีกด้วย   ส่วนผสม กระดูกหมูอ่อน 500 กรัม ใบชะมวงฉีกเอาก้านใบออก  80 กรัม (อัดแน่น) หอมแดงบุบ  40 กรัม กระเทียมบุบ  10 กรัม น้ำสะอาด  5 ถ้วย เกลือ  1 ช้อนโต๊ะ วิธีทำ ต้มกระดูกหมูอ่อนในน้ำสะอาด ใส่เกลือ กระเทียม และหอมแดงจนสุก และกระดูกหมูอ่อนนุ่ม จากนั้นจึงใส่ใบชะมวง ต้มจนใบชะมวงสุก ตักเสิร์ฟ


เพิ่มเติม

ภาค กลาง

แกงเผ็ดไก่

ความเป็นมา คนไทยเริ่มใช้กะทิในการทำอาหารโดยดัดแปลงมาจากการใช้นมของพวกอาหรับที่เดินทางมาค้าขายในสมัยอยุธยา แต่เดิมคนไทยมีแต่แกงน้ำใส และมีน้ำพริกแกงที่ใช้สมุนไพรสดมาตำรวมกันเพื่อให้แกงมีรสชาติเข้มข้นขึ้น เมื่อนำเอากะทิมาใช้ผสมในน้ำแกง และใส่สมุนไพรอย่างใบโหระพาเพื่อให้มีกลิ่นสดชื่น จึงทำให้กลายเป็นแกงที่มีรสชาติกลมกล่อมน่ากิน คุณค่าทางโภชนาการ แม้แกงไก่จะใช้กะทิที่มีไขมันอิ่มตัวสูงซึ่งอาจจะมีปัญหากับคอเลสเตอรอล แต่ก็มีสมุนไพรจากพริกแกงโดยเฉพาะพริกที่มีรสเผ็ดเพราะมีสารแคปไซซินช่วยขยายช่องจมูกให้ใหญ่ขึ้น จึงช่วยขับเสมหะ และลดการอุดตันของหลอดเลือด มะเขือพวงมีแคลเซียม เหล็ก และฟอสฟอรัสสูง ช่วยลดน้ำตาลในเลือด อีกทั้งยังช่วยในการย่อยอาหาร มะเขือเปราะที่มีกากใยที่ช่วยระบายท้อง ใบโหระพาที่มีเบต้าแคโรทีนสูง โหระพา 100 กรัม มีเบต้าแคโรทีนสูงถึง 452.16 ไมโครกรัม แกงเผ็ดไก่จึงไม่ได้เป็นอาหารที่มีไขมันสูงอย่างที่หลายคนกลัว ถ้าเรากินอย่างพอเหมาะ ส่วนผสม กะทิ                                         4     ถ้วย เนื้อไก่                                      300 กรัม น้ำพริกแกงแดง                          ½    ถ้วย มะเขือเปราะ                              100 กรัม มะเขือพวง                                 20   กรัม ใบโหระพา                                50   กรัม พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ                      10   กรัม น้ำปลา น้ำตาลเล็กน้อย ส่วนผสมน้ำพริกแกงแดง พริกแห้ง 9 เม็ด กรีดเม็ดออกและแช่น้ำจนนุ่ม ตะไคร้ซอยบาง ¼ ถ้วย หอมแดงซอย  ¼ ถ้วย กระเทียม 2 ช้อนโต๊ะ ผิวมะกรูดหั่นฝอย 1 ช้อนชา รากผักชีหั่นฝอย 1 ช้อนชา พริกไทยเม็ด 1 ช้อนชา กะปิ 1 ช้อนชา ลูกผักชีคั่ว 4 ช้อนชา ยี่หร่าคั่ว 2 ช้อนชา ตำหรือปั่นทุกอย่างรวมกันจนละเอียด วิธีทำ    ผัดเครื่องแกงกับกะทิเล็กน้อยจนหอม ใส่เนื้อไก่ลงไปผัดให้ผิวด้านนอกสุกขาว จากนั้นในกะทิลงไป เติมน้ำสะอาดเล็กน้อยต้มจนเริ่มเดือดและกะทิแตกมัน ใส่มะเขือเปราะ มะเขือพวง และปรุงรสด้วยน้ำปลา และน้ำตาล ชิมรส เมื่อต้องการเสิร์ฟให้ใส่ใบโหระพา พริกชี้ฟ้าแดง ตักขึ้นเสิร์ฟร้อนๆ  


เพิ่มเติม

close[x]
Questionnaire